วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

เทคนิคการเพาะพันธุ์ไก่ชน

1. คัดสายพันธุ์ที่ดี หาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ที่เป็นสายพันธุ์สายเลือดที่ดี ที่เก่ง หรือเหล่าไก่เก่ง มีประวัตินำออกชนชนะมาหลายตัว จะมีแพ้บ้างก็ไม่เป็นไร
2. การคัดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ควรหาที่มีลักษระรูปร่างหน้าตาที่ดี หรือใกล้เคียงที่สุดตามหลักโหงวเฮ้งไก่เก่ง หรือลักษณะไก่ชนที่ดีตามตำรา
หากเราสามารถหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ให้มีคุณสมบัติตามข้อ 1, 2 แน่ใจได้เลยว่า ลูกไก่ที่เพาะจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ และดีเด่น เหมือนสายพันธุ์ พ่อ แม่ และ ปู่ ย่า ตา ยาย ของมัน แม้ว่าไก่ตัวนั้นจะไม่เก่ง แต่ถ้าเราเอาลูกของมันไปผสมเป็นรุ่นหลาน รุ่นเหลน ต่อไปก็จะได้ไก่ที่มีลักษณะเด่นพิเศษ เหมือนเทือกเถาเหล่ากอ หรือโครตเหง้าของมันแน่นอน
อนึ่งแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก ขนาด 3.00 กก.ขึ้นไป ไม่ควรให้ฟักไข่เอง เพราะมักจะเหยียบไข่แตก และกลายเป็นไก่กินไข่ตัวเองไป ควรให้แม่ไก่ที่มีขนาดเล็กฟักและเลี้ยงลูก จะดีกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือใช้ไก่แจ้เป็นมือปืนก็ยิ่งดี
การเพาะตามสายพันธุ์ คือการเพาะตามสายพันธุ์หรือสายเลือดเดียวกัน การเพาะพันธุ์แบบนี้ รุ่นลูกมักจะไม่ค่อยเก่ง หรือเก่งก็ไม่มาก แต่จะไปเก่งในรุ่นหลาน รุ่นเหลน จึงจะได้ลูกไก่ที่มีลักษณะเด่นเหมือนพ่อพันธุ์ตัวแรก หรือเหมือนโคตรเหง้าของมัน ซึ่งผสมพันธุ์ดังนี้


พ่อพันธุ์ ก + แม่พันธุ์ ข = ลูกไก่สายเลือด กข คือลูกไก่ ค, ง, จ, ฉ
ลูกไก่ ค + ลูกไก่ ง = ได้ลูกไก่รุ่นหลาน 1, 2, 3, 4……..
ลูกไก่ จ + ลูกไก่ ฉ = ได้ลูกไก่รุ่นหลาน 5, 6, 7, 8……..
ลูกไก่ 1 + ลูกไก่ 5 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 9, 10, 11……..
ลูกไก่ 2 + ลูกไก่ 6 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 12, 13, 14……..
ลูกไก่ 3 + ลูกไก่ 7 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 15, 16, 17……..
ในการเพาะพันธุ์ตามที่สมมุติขึ้น หมายความว่าเราต้องคัดรุ่นลูกรุ่นหลาน ตัวที่มีลักษณะดีสวยงามตามพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ดั้งเดิม หรือปู่ย่าของมัน รวมทั้งชั้นเชิงฝีตีนมาทำพันธุ์ต่อ โอกาสที่จะได้ลูกไก่ที่มีคุณสมบัติเหมือนพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เดิมของมันก็มีสูง
แต่การเพาะพันธุ์แบบสายพันธุ์เดิม มักจะเกิดปัญหาเลือดชิด ลูกไก่ที่ได้ออกมาบางตัวจะแคระแกร็น มีตำหนิ เช่น ปากบิด ปากเบี้ยว นิ้วหงิก นิ้วงอ และอกคด ทางแก้ก็คือเปลี่ยนพ่อพันธุ์ หากไม่ต้องการสายเลือดอื่นมาผสม ก็อาจใช้ลูกหลานของพี่น้อง ของพ่อ แม่เดิมมาผสม ก็พอจะแก้ปัญหาเลือดชิดไปได้บ้าง
ข้อสังเกต ในการเพาะพันธุ์ตามสมมุติข้างต้น ที่ใช้ พ่อพันธุ์ไก่ ก ผสมแม่พันธุ์ไก่ ข ลูกที่เกิดขึ้น คือ ไก่ ค ง จ ฉ น่าจะมีเลือดพ่อ และแม่ อย่างละครึ่ง แต่ข้อเท็จจริงอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น คือ
ลูกไก่ ค อาจมีเลือดพ่อ 30% เลือดแม่ 70%
ลูกไก่ ง อาจมีเลือดพ่อ 40% เลือดแม่ 60%
ลูกไก่ จ อาจมีเลือดพ่อ 50% เลือดแม่ 50%
ลูกไก่ ฉ อาจมีเลือดพ่อ 60% เลือดแม่ 40%
ขึ้นอยู่กับยีนส์ของแต่ละตัว จะหนักไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่มีเลือดพ่อ เลือดแม่อย่างละครึ่งหรือข้างละ 50%
การผสมพันธุ์ต่างสายพันธุ์ เป็นการผสมพันธุ์ของไก่ต่างสายเลือดกัน หรือไม่ได้เป็นญาติกัน เช่น การผสมพันธุ์ไก่เหลืองหางขาว สมมุติใช้พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากอยุธยา ผสมพันธุ์กับไก่เหลืองหางขาวที่มาจากเขตหนองจอก หรืออาจจะใช้แม่พันธุ์หลายตัวมาจากหลายจังหวัดก็ได้ เช่น
พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวอยุธยา + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวหนองจอก = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก
พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวอยุธยา + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวแปดริ้ว = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-แปดริ้ว
คัดลูกไก่อยุธยา-หนองจอก และลูกไก่ อยุธยา-แปดริ้ว ที่มีรูปร่างขนาด ทรวดทรงที่สวยงามถูกต้องตามตำรา รวมทั้งทดสอบดูชั้นเชิงฝีตีนว่าเข้าขั้นมาตรฐานมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อ ลูกไก่ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่มีสายเลือด "อยุธยา-หนองจอก-แปดริ้ว" ถือว่าเป็นสายพันธูของเราที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ แต่ถ้าเรายังยึดหลักการเพาะพันธุ์ตามสายพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ลูกไก่ของเราเลือดชิดกันขึ้นเรื่อยๆ อาจสูงเกิน 50% โดยหลักการแล้วควรให้มีเลือดชิดได้ระหว่าง 15-25% และไม่ให้เกินกว่านี้
วิธีป้องกันเลือดชิด การผสมพันธุ์กันไม่ควรให้เกิน 5 รุ่น ก็ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ คือ หาพ่อพันธุ์ใหม่ในโทนสีเหมือนเดิมมาเป็นพ่อพันธุ์ใหม่ ก็จะเป็นการป้องกันเลือดชิดได้ หรือหาพ่อพันธุ์ใหม่มา 2 ตัว ผสมกับแม่พันธุ์ที่เป็นเหล่าของเราที่พัฒนาแล้ว เช่น
1. พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากสุพรรณ + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา-สุพรรณบุรี
2. พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากนครปฐม + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา-นครปฐม
แล้วนำไก่ที่ได้จาก(1)และ(2) มาเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ต่อ และสามารถนำลูกไก่ที่ได้กลับไปผสมกับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ หรือที่มีสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา โดยวิธีการดังกล่าวก็สามารถป้องกันเลือดชิดได้ และเราสามารถได้ลูกไก่ที่มีลีลาชั้นเชิง ฝีตีนคล้ายและใกล้เคียงกับสายพันธุ์ดั้งเดิม
ข้อควรจำ เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ หรือพอใจกับชั้นเชิงของไก่ที่เรามีอยู่ เราต้องพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป เช่น เราต้องการไก่ชั้นเชิงแบบไหน ก็หาพ่อพันธุ์ที่มีชั้นเชิงแบบนั้นๆมาเป็นพ่อพันธุ์ สับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากเราหยุดเมื่อไรไก่ของเรามีโอกาสเป็นไปได้ 3 ประการ คือ
- เลือดชิด
- ชั้นเชิง ฝีตีน ตามชาวบ้านเขาไม่ทัน
- ไก่เหล่าของเราที่เคยเก่งก็จะกลายเป็นอดีตไปเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น