วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ไก่ชนพันธุ์ประดู่เลาหางขาว

แหล่งกำเนิด เชื่อว่ามาจากพระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กำแพงเพชร มีนบุรี หนองจอก สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช
ประเภท เป็นไก่ชนไทยขนาดกลาง ตัวผู้หนัก 3.00 - 4.00 กก. ตัวเมียหนัก 2.50 - 3.00 กก.
สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน สีของลูกเจี๊ยบ ขนหัว ขนคอขาว ขนหางดำ ปีกในสีดำ ปีกนอกสีขาว หน้าคอ หน้าท้องสีขาว
ประวัติความเป็นมา ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร พัฒนามาจากไก่สายพันธุ์ใด ในประวัติศาสตร์ หรือการบันทึกยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญท่านใดในประวัติศาสตร์
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เพศผู้


รูปร่างลักษณะของประดู่เลาหางขาว เป็นไก่รูปร่างแบบทรงหงส์ ลำตัวยาว ไหล่ยก หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว เดินยืดท่าทางสง่างาม แข้งกลมแบบลำหวาย หน้ากลมยาวแบบหน้านก
ใบหน้า กลึงกลมแบบหน้านกเหยี่ยว เหนียงคางรัด
ปาก ปากใหญ่ ปลายปากงุ้มสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำลึกทั้ง 2 ข้าง สีน้ำตาลอ่อน
จมูก จมูกแบนราบสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง สันจมูกเรียบ สีเดียวกับปาก
ตา ขอบตาเป็นรูปวงรีแบบตาวัว ขอบตา 2 ชั้น นัยน์ตาดำ ตารอบนอกสีเหลืองแก่แบบสีไพล เส้นเลือดสีแดงชัดเจน
หงอน หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอดกระหม่อม หงอนสีแดงสด พื้นหงอนเรียบ
ตุ้มหู ตุ้มหูสีแดงเหมือนหงอน ขนปิดรูหูสีประดู่เลา เหมือนขนสร้อย
เหนียง เหนียงเล็กสีแดงเหมือนหงอน รัดติดกับคาง
กะโหลก กะโหลกยาวกลมเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเล็ก ตอนหลังใหญ่กว่า
คอ คอยาวใหญ่โค้งแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดร่องคอ ขนสร้อยคอขึ้นดกเป็นระเบียบสีประดู่เลา
ปีก ปีกยาวใหญ่จรดก้น ขนปีกท่อนในขาวปนดำ ปีกท่อนนอกไชปีกขาว ปีกท่อนในไชปีกขาวปนดำ ปีกแน่นไม่เป็นร่องโหว่
ตะเกียบ ตะเกียบแข้งตรง ท้องแฟบรับกับตะเกียบ
หาง หางยาวดกเป็นระเบียบ สีขาวปนดำ หางพัดดำปลายขาว หางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปนดำ หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว ก้านหางสีเดียวกับขน
แข้งขา ปั้นขาใหญ่ ห่างจากกัน ข้อขามั่นคง ขนปั้นขาสีดำ เป็นแข้งรูปลำเทียน ลำหวาย เกล็ดแข้ง 2 แถวเป็นระเบียบ นิ้วเรียวยาว แข้งสีเดียวกับปาก
เกล็ด เกล็ดนิ้ว เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบสีเดียวกับปาก
นิ้ว นิ้วยาวเป็นลำเทียน ข้อนิ้วมีท้องปลิงหนา
เดือย เดือยเป็นเดือยแบบลูกปืน หรือแบบงาช้าง แข็งแรงมั่นคง
ขน ขนพื้นตัวสีดำ ขนกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก และสร้อยหลัง สีประดู่เลา คือโคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่
เล็บ มั่นคงแข็งแรง สีเดียวกับเกล็ดแข้งและปาก
สร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีประดู่เลา คือ ขนสร้อยท่อนล่างสีขาว ท่อนปลายสีประดู่
กระปุกน้ำมัน เป็นกระปุกใหญ่ ปลายเดียว

ประดู่เลามี 4 เฉดสี คือ
1. ประดู่เลาใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อว่าเลาใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางเป็นสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ที่หัว-หัวปีก-ข้อขา มีกระขาว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีเม็ดมะขามแก่ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
2. ประดู่เลาเล็ก ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนขนสีขาว ปลายขนสีเม็ดมะขามแก่ ไม่มีหย่อมกระ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
3. ประดู่เลาแดง ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่แดง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพลหรือส้ม
4. ประดู่เลาดำ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีคล้ำเข้มแบบเขียวประดู่


ไก่ประดู่หางดำ

มีถิ่นกำหนดแถวภาคกลาง เพศผู้มีสร้อยคอ สร้อยปี สร้อยหลังและขนปิดหูเป็นสีประดู่ ถ้าสีแก่จะเรียกว่า ”ประดู่เมล็ดมะขามคั่ว” ถ้าสีอ่อนจะเรียกว่า ”ประดู่แดง” หางพัด และกะลวยสีดำปลอด ไม่มีขาวแซม พื้นสีลำตัวไม่มีสีอื่นแซม ตาสีไพร ส่วนปาก แข้ง เดือย เป็นสีเขียวอมดำ หรือดำสนิท เพศเมีย มีขนสีดำสนิทรับกันทั้งตัว ไม่มีสีขาวแซม บางตัวมีขลิบสร้อยคอสีประดู่ ถือว่าเป็นไก่พันธ์แท้ ส่วนปาก แข้ง เดือย ลักษณะเหมือนเพศผู้






ไก่เหลืองหางขาว

มีถิ่นกำหนดเดิมอยู่ที่บ้านหัวเท ตำบลบ้านกร่าง จังหวัดพิษณุโลก ไก่เหลืองหางขาวเป็นไก่ที่ฉลาดปราดเปรียว อดทน ลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหูเหมือนกันตลอด มีจุดขาว 5 แห่ง คือ ที่ท้ายทอย หัวปีกทั้งสองข้าง ที่ข้อขาทั้งสองข้าง บางตำราเรียกว่า ”พระเจ้า 5 พระองค์” เพศผู้มีสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง เป็นสีเหลืองเหมือนกันตลอด ขนสีตัวเป็นสีดำ ส่วนปาก แข้ง เล็บ เดือย มีสีขาวอมเหลืองคล้ายสีงาช้าง ลูกตาสีเหลืองอ่อน ”เรียกว่าตาปลาหมอตาย” ส่วนเพศเมียมีขนพื้นตัวเป็นสีดำตลอดมีกระขาว 2 หย่อมเหมือนกัน






การเริ่มต้นเลี้ยงไก่ชน

การเริ่มต้นเลี้ยงไก่ สำหรับคนที่ไม่มีความชำนาญ ไม่เคยเลี้ยงไก่มาย่อมจะเป็นเรื่องหนักใจอยู่มิใช่น้อย แต่สำหรับผู้ที่เคยเลี้ยงมาแล้วจะไม่รู้สึกลำบากใจเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ดี ย่อมจะขึ้นกับหลักดังได้กล่าวข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมีทุนด้วย มิฉะนั้นจะพบกับความลำบากหลายประการ เป็นต้นว่าโรงเรือน เงินสำหรับซื้อไก่ และอาหารไก่ การเริ่มต้นเลี้ยงไก่ เริ่มได้หลายทาง คือ
1. ซื้อไก่มาฟักเอง หรือจ้างเขาฟัก
2. ซื้อลูกไก่คัดเพศแล้ว หรือลูกไก่คละเพศมาเลี้ยง ถ้าต้องการแม่ไก่ 10 ตัว จะต้องซื้อลูกไก่คละเพศมาเลี้ยงเป็นจำนวน 25 ตัว
3. ซื้อไก่รุ่นอายุประมาณ 8-10 อาทิตย์มาเลี้ยง
4. ซื้อแม่ไก่ไข่มาเลี้ยง การซื้อแม่ไก่มาเลี้ยงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ไม่ค่อยจะชำนาญในการเลี้ยงไก่ เพราะจะพบอุปสรรคน้อย ให้ผลเร็ว จะทำให้เกิดการเอาจริงเอาจังขึ้น


วิธีเลี้ยง
1. แบบเลี้ยงปล่อย เลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเอง เช่น ใต้ถุนบ้าน ลานบ้าน มักนิยมเลี้ยงตามชนบท โดยให้กินเศษอาหาร คุ้ยเขี่ยหากินเอง การเลี้ยงแบบนี้ส่วนมากถือเป็นงานอดิเรกเท่านั้น และมักจะมีอันตรายจากสัตรูและโรค ซึ่งอาจติดต่อโรคได้โดยง่าย
2. เลี้ยงแบบครึ่งปล่อยครึ่งกัก การเลี้ยงแบบนี้ คือเลี้ยง ในลาน แต่มีรั่ว มีเล้าให้อยู่อาศัย ให้ออกกำลังกายได้ การเลี้ยงแบบนี้จะต้องให้อาหารพอดี
3. เลี้ยงแบบขึ้นคอน ไม่มีลาน ไก่อยู่บนพื้นมีคอนให้นอน มีรางอาหาร รางน้ำอยู่ในเล้าเสร็จ อาหารจะต้องหามาให้ โดยให้กินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การเลี้ยงแบบนี้ ควรจะให้น้ำมันตับปลาด้วย เพื่อให้ไก่แข็งแรง โตเร็ว
โรงเรือน
โรงเรือนโดยทั่วไป ควรมีลักษณะดังนี้
1. กันลม แดด ฝนได้ดี
2. อากาศ ระบายได้สะดวก เย็นสบาย ไม่อับ มีกันสาดกันฝน
3. ป้องกันศัตรูต่างๆได้ดี
4. รักษาความสะอาดง่าย ไม่เป็นที่น้ำขัง พื้นไม่แฉะ ไม่รกรุงรัง
5. ห่างจากที่ชุมนุมชน พอสมควร มีการขนส่งสะดวก อาหารหาง่าย
แบบของโรงเรือน
1. แบบเพิงหมาแหงน เป็นแบบประหยัดและสร้างง่ายที่สุด แต่ถ้าหันหน้าไปทางแนวของมรสุม ฝนจะสาดเข้ามา ควรหันทิศทางให้ดี
2. แบบหน้าจั่ว แบบนี้กันแดดและฝนได้ดี แต่สร้างยากกว่า ค่าวัสดุ และค่าแรงสูงกว่าแบบเพิงหมาแหงน
3. แบบจั่วสองชั้น เปลืองแรงงาน และสร้างยากกว่าแบบหน้าจั่วธรรมดา แต่อากาศถ่ายเทได้ง่าย
4. แบบจั่วกลาย แบบนี้จะดีกว่า เพราะระบายอากาศได้ดีกว่า กันฝนและค่าก่อสร้างถูกกว่า
พื้นคอก
พื้นคอกสำหรับไก่ จะเป็นพื้นดินธรรมดาหรือดินปนทรายก็ได้ ถ้าเป็นธรรมดา ทำความสะอาดยาก มักจะเปียกแฉะ แต่อากาศเย็นสบาย ควรโรยด้วยปูนขาวบ้าง ในอัตรากิโลกรัมละ 4-10 ตารางเมตร เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค สำหรับพื้นคอนกรีต ทำความสะอาดง่าย แต่เปลืองเงินมาก
โรงเรือนสำหรับไก่เล็ก
ควรสร้างให้ดีกว่าโรงเรือนไก่ใหญ่ เพราะลูกไก่ยังมีสุขภาพอ่อนแอ ต้องการความดูแลมาก ต้องการความอบอุ่น ป้องกันศัตรูมาทำร้าย ถ้าพื้นคอกเป็นซีเมนต์จะสะดวกและทำความสะอาดได้ง่าย รักษาความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ ฟากของโรงเรือนนั้นข้างล่างควรจะปิดทึบเพื่อป้องกันศัตรูและให้ความอบอุ่น ส่วนข้างบนควรโปร่งมีลวดตาข่าย หรือหน้าต่างบานเลื่อน ปิด-เปิดกันละอองฝนได้ ลูกไก่ควรเลี้ยงควรเลี้ยงอยู่ในโรงนี้ 1-2 เดือน จึงนำไปยังโรงเลี้ยงไก่รุ่นต่อไป
โรงเรือนเลี้ยงไก่รุ่น
คล้ายกับเลี้ยงไก่เล็ก แต่กว้างกว่า การระบายอากาศมากกว่า พื้นคอกจะเป็นดินหรือคอนกรีตก็ได้ ถ้าเป็นคอนกรีตจะสะดวกกว่า พื้นที่เฉลี่ยสำหรับไก่รุ่นอายุ 2-3 เดือน เฉลี่ยตารางเมตรละ 8-10 ตัว และไก่อายุ 3-5 เดือน ตารางเมตรละ 5-6 ตัว ในโรงไก่รุ่นควรมีภาชนะใส่น้ำและรางอาหารเพิ่มขึ้น ไม่มีเครื่องกก มีคอนให้นอนสูงจากพื้นประมาณ 40-60 เซนติเมตร ไม่ควรให้ถี่จนเกินไป จะทำให้ไก่เสียสุขภาพ
การรักษาคุณภาพอาหารไก่
1. เมื่อผสมอาหารให้ไก่ ไม่ควรผสมมากเกินไป เพราะจะเสื่อมคุณภาพถ้าเก็บไว้นานเกินไป ควรผสมให้กินหมดภายใน 3-5 วัน เมื่อหมดแล้วจึงค่อยผสมใหม่ จะได้อาหารที่มีคุณภาพตามที่เราต้องการอยู่เสมอ
2. อาหารที่ผสมไว้ ควรจะเก็บให้ดี สะอาดเรียบร้อย อย่าให้แดดส่องนานๆ หรือเก็บไว้ใกล้ความร้อน จะทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพ หรือเก็บไว้ในที่อับเกินไป และชื้นแฉะไม่มีอะไรรองรับ อาหารก็จะเสียและเสื่อมคุณภาพได้
3. อาหารที่ซื้อมาจากร้านค้า ควรจะพิถีพิถันสักหน่อย ควรตรวจดูว่าอาหารเก่า ใหม่แค่ไหน ถ้าเห็นว่าเก่าเกินไป หรือกลิ่นผิดปกติ ไม่ควรซื้อไปให้ไก่กิน
ในเรื่องอาหารไก่นี้ควรเอาใจใส่เป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นตามสูตรหรืออาหารเสริม ถ้าให้ไม่ถูกต้องก็จะเป็นผลร้ายขึ้นได้ โดยเฉพาะคุณภาพของอาหาร ควรจะระวังให้หนัก ถ้าอาหารมีคุณภาพไก่กินเข้าไปก็จะเติบโตเร็ว คุ้มค่ากับเงินทองที่เสียไป แต่ถ้าให้อาหารที่มีคุณภาพต่ำ ผลร้ายจะเกิดขึ้นทันที
การฟักไข่
วิธีฟักไข่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1. ฟักด้วยใช้แม่ไก่กก
2. ฟักด้วยเครื่องฟัก โดยการซื้อเครื่องฟักมาฟัก มีทั้งเครื่องฟักที่ใช้ไฟฟ้า และเครื่องฟักที่ใช้ความร้อนจากแสงสว่างของตะเกียง
การฟักไข่ด้วยตนเอง
การฟักไข่ด้วยตนเอง โดยใช้ ตู้ฟัก เป็นประโยชน์สำหรับนักเลี้ยงไก่ เพราะจะได้เกิดความชำนาญในการฟัก ประหยัดเงินที่จะซื้อลูกไก่อื่นมาเลี้ยง ถ้าเราฟักเองก็จะได้ลูกไก่เลี้ยงจากพันธุ์ที่ดีและแน่นอน
วิธีเลือกไข่สำหรับฟัก
เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะลูกไก่จะฟักออกเป็นตัว หรือสุขภาพของลูกไก่จะเป็นอย่างไร ตลอดถึงเปอร์เซนต์การออกเป็นตัวของไก่ ย่อมขึ้นอยู่กับการเลือกไข่ที่จะฟักทั้งสิ้น หลักของการเลือกไข่ฟักมีดังนี้
1. เลือกไข่จากพ่อ-แม่ที่แข็งแรงว่องไว และไม่มีโรค เพื่อลูกที่เกิดมาจะได้แข็งแรงไม่อ่อนแอ เลี้ยงง่าย
2. เลือกไข่จากพ่อ-แม่ไก่ที่ดี จากพันธุ์ ที่ดีเสมอมา
3. ไข่ที่ใช้ฟักควรจะมีรูปร่างปกติ ไม่บิดเบี้ยว ไม่กลม ไม่ยาวจนผิดปกติ เปลือกไข่เรียบไม่ขรุขระ ไม่มีรอยร้าว และไม่แตกง่ายผิดไข่ธรรมดา ไข่ที่สกปรก หรือเปื้อนไม่ควรใช้ฟัก
วิธีรักษาไข่สำหรับฟัก
ไข่สำหรับฟักควรจะรักษาให้ดีมิฉะนั้นเชื้ออาจจะตายและฟักไม่ออก วิธีรักษาไข่ทำดังนี้
1. เก็บไข่ไว้ในที่เย็น ปล่อยให้อากาศผ่านได้สะดวก ที่เก็บต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้าเก็บไว้ในอากาศร้อน เชื้อที่เริ่มเป็นตัวอาจตายเสียก่อนที่จะนำไปฟัก ไข่ที่มีเชื้อนั้น จะเห็นได้ว่าไข่บางฟองที่เราต่อยจนแตกจะเห็นเส้นเลือดอยู่ในไข่นั้น แสดงว่าไข่มีเชื้อแล้ว
2. ภาชนะที่เก็บไข่ ควรจะใช้ลังเป็นรูปกะบะสี่เหลี่ยมตื้นๆ พอวางไข่ตามขวางได้เพียงชั้นเดียว ที่กั้นกะบะเอาแกลบหรือขี้เลื้อยแห้งๆรอง เพื่อกันไม่ให้ไข่แตก
3. พยายามกลับไข่วันละ 2 ครั้ง กลับตอนเช้า - เย็นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงกำหนดฟัก การกลับไข่ควรใช้มือกลิ้งให้ไข่กลับ การกลับไข่มีความจำเป็นมาก เพราะถ้าไม่กลับ เชื้อลูกไก่ในไข่อาจจะเกาะติดกับเปลือกไข่และตายก็ได้
4. ก่อนที่จะเก็บไข่เข้าฟัก ควรเลือกไข่เสียก่อน โดยเอาไข่ที่จะไม่ฟักออกเสีย เก็บไว้แต่ไข่ที่เลือกแล้วว่าจะทำการฟัก
ระยะที่ควรจะฟักไข่
ควรฟักไข่ในฤดูหนาวดีกว่าการฟักในฤดูร้อน ไข่ใหม่ฟักออกดีกว่าไข่เก่า ถ้าไข่ยิ่งใหม่เปอร์เซนต์ที่จะออกมาเป็นตัวมีมากขึ้น ไม่ควรเก็บไข่ไว้นานๆ อย่างมากไม่ควรเก็บไว้เกิน 10 วันในฤดูร้อน และไม่ควรเกิน 14 วันในฤดูหนาว ความจริงแล้วไม่ควรให้เกิน 6 วัน ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการพ้นอายุฟัก เวลาเก็บไข่ออกจากรังควรใช้ดินสอดำเขียนวันที่ฟักไว้ด้วย
กำหนดฟักไข่ออกเป็นตัว
ไก่ อย่างเร็ว 19 วัน อย่างช้า 23 วัน ธรรมดา 21 วัน
เป็ด อย่างเร็ว 26 วัน อย่างช้า 32 วัน ธรรมดา 28 วัน
ห่าน อย่างเร็ว 27 วัน อย่างช้า 33 วัน ธรรมดา 30 วัน
ไก่ต๊อก ไก่งวง อย่างเร็ว 26 วัน อย่างช้า 30 วัน ธรรมดา 28 วัน
กำหนดระยะการฟักออกเป็นตัวนี้ ไม่ว่าจะฟักด้วยเครื่องหรือฟักด้วยแม่ไก่ ย่อมจะปรากฏผลเสมอกัน เมื่อถึงกำหนดมันจะออกมา ถ้าตัวไหนแข็งแรงก็จะออกมาก่อน ถ้าตัวที่อ่อนแอก็จะออกทีหลัง จากตัวแรกถึงตัวสุดท้ายอาจจะห่างกัน 24-36 ชั่วโมงก็ได้
ฤดูที่เหมาะสำหรับฟักไข่
ฤดูที่เหมาะที่สุดก็คือต้นฤดูหนาว เริ่มต้นราวเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนกุมพาพันธ์ ในระหว่างนี้อากาศเย็น แม่ไก่จะไข่ดกกว่าฤดูอื่น ทำให้ได้ไข่ฟักจำนวนมาก ผู้ที่ฟักเป็นอาชีพหรือต้องการจำนวนมากๆ ควรจะเริ่มฟักในฤดูนี้ เหมาะกว่าฤดูอื่นๆ
ประโยชน์ของการฟักไข่ด้วยแม่ไก่
1. สะดวก ประหยัดเงิน
2. ง่ายเพราะการฟักไข่ โดยวิธีนี้ ปล่อยธุระไว้ให้แม่ไก่แทบทั้งหมด
3. การหัดเลี้ยงใหม่ๆหรือผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการฟักไข่ การฟักด้วยแม่ไก่จะให้ลูกไก่มากกว่าฟักด้วยเครื่องฟัก
4. ลูกไก่ที่ฟักด้วยแม่ไก่จะแข็งแรงดี เป็นโรคน้อย และเลี้ยงรอดมากกว่าฟักด้วยเครื่อง
วิธีเลือกแม่ไก่สำหรับฟัก
1. เลือกจากแม่ไก่ที่แสดงว่าอยากจะฟัก คือ กกอยู่ในรัง แม้จะออกข้างนอกก็กลับเข้าไปในรังอีก
2. ถ้าลักษณะอย่างอื่นดีเหมือนกัน ให้เลือกแม่ไก่ที่มีรูปร่างใหญ่ดีกว่าที่มีรูปร่างเล็ก เพราะแม่ไก่ที่รูปร่างใหญ่จะฟักไข่ได้มากกว่า
3. เลือกแม่ไก่ที่มีรูปร่างปกติ สุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
4. เลือกแม่ไก่ที่เคยฟักไข่มาแล้วจะดีกว่าแม่ไก่สาว
5. เลือกแม่ไก่ที่เคยฟักไข่ออกดีมาแล้ว และเลี้ยงลูกดี
6. เลือกแม่ไก่ที่มีนิสัย ใจคอดี ขยัน และรักลูกมาก
7. เลือกแม่ไก่ตัวที่เชื่อง เพราะจะมีนิสัยฟักไข่ดีกว่า
รังสำหรับฟักไข่
ควรทำให้ดีและเหมาะสม เพราะแม่ไก่ต้องใช้เวลาฟักถึงประมาณ 21 วัน ซึ่งเป็นเวลานานไม่ใช่น้อย จึงควรทำให้ดีและมิดชิด ถ้า เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสควรมีขนาดกว้างยาวด้านละ 40 เซนติเมตร ลึก 15 เซนติเมตร ทั้งนี้ก็แล้วแต่ขนาดของไก่ด้วย ก้นรังควรมีวัตถุ อ่อนนุ่มรองเพื่อกันไข่แตก จะเป็นฟางหรือหญ้าแห้งก็ได้ เวลาใส่วัตถุรองรับ พยายามทำให้มีรูปร่างคล้ายกับก้นกะทะลาดๆ กะดูพอให้ไข่กลิ้งออกไปรอบๆในขณะที่แม่ไก่ย่างเข้าไปในรัง แต่อย่าให้ถึงกับเทกองเป็นกลุ่ม ขณะที่แม่ไก่ออกไปจากรัง
ที่ตั้งรังไข่
รังไข่ฟัก ควรตั้งไว้ในที่ ๆเย็นสบายให้ลมระบายได้สะดวก และสูงกว่าพื้นดินราวหนึ่งศอก ถ้าตั้งรังไข่สูงแม่ไก่จะขึ้นลงลำบาก และโอกาสที่ไก่จะเหยียบไข่แตกก็มีมากขึ้น
วิธีป้องกันไร
ไก่ที่กำลังฟักไข่นั้น ไรเป็นศัตรูสำคัญอย่างหนึ่ง มันอาจจะรบกวนแม่ไก่ให้เกิดความรำคาญ และอาจจะทิ้งรังไปก็ได้ วิธีกำจัดไรมีดังนี้
1. ก่อนที่จะฟักไข่ประมาณ 7 วัน ควรเอายาฆ่าไรใส่แม่ไก่เสียก่อนทุกวัน ยาที่ถูกและหาง่ายที่สุดได้แก่ ยาฉุนบดให้ละเอียดเหมือนแป้งผัดหน้า วิธีใส่ยาให้จับแม่ไก่ให้นอนหงายแล้วเอายาโรยตามท้อง ใต้ปีกและที่อื่นๆจนทั่ว แล้วถูไปมาให้ยาเข้าใต้ผิวหนัง
2. ในระหว่างที่ฟักหมั่นตรวจดู ถ้ามีไรมากให้ใส่ยาให้แม่ไก่อีก และเผาวัตถุที่รองรังเสีย แล้วทำความสะอาดบริเวณใกล้เคียงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
3. ในระหว่างฟัก จงทำที่เกือกฝุ่นไว้ให้แม่ไก่และในฝุ่นนั้นเอาผงยาสูบโรยลงไปด้วย ก็จะทำให้หายไปหรือเบาลงได้
4. วัตถุที่รองรังนั้น เมื่อลูกไก่ออกแล้วควรเผาเสีย
5. ควรรักษาบริเวณรังให้สะอาดอยู่เสมอ และมีแสงแดดเข้าถึงได้เป็นการฆ่าเชื้อโรค
6. ประมาณ 3-4 วัน ก่อนจะถึงกำหนดลูกไก่ออกจากไข่ จงงดใช้ยาฆ่าไร เพราะยาบางอย่างมีอำนาจพอที่จะฆ่าลูกไก่ให้ตายได้
การปฏิบัติแม่ไก่ขณะที่ฟัก
1. เมื่อเลือกที่ฟักได้แล้ว จงย้ายแม่ไก่ไปใส่รังฟักในเวลากลางคืน แม่ไก่จะได้ไม่ตกใจและยอมอยู่ในรังง่ายๆ ถ้าย้ายกลางวันจะลำบาก แม่ไก่อาจจะตกใจแล้วไม่ยอมนอนรังก็ได้
2. ในคราวหนึ่งๆถ้าเกิดไก่ฟักหลายแม่ การดูแลอาจไม่สะดวก ควรให้ฟักคราวหนึ่งประมาณ 2-3 แม่ก็พอ
3. เตรียมหาน้ำ อาหาร และก้อนกวาด ถ่าน เตรียมไว้และปล่อยให้แม่ไก่ออกหากินอาหาร และเกือกฝุ่น วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อาหารแม่ไก่ฟักควรให้ข้าวโพด ข้าวเปลือก หรืออาหารจำพวกแป้ง เพื่อจะได้ไปทำความร้อนสำหรับฟักไข่ อาหารป่นไม่ควรให้ เพราะอาจจะทำให้ท้องระบาย และจะทำให้ไข่สกปรก
4. เมื่อครบกำหนด ขณะที่ลูกไก่กำลังจะออกจากไข่ ถ้าเห็นลูกไก่ตัวไหนออกจากไข่แล้วก็ควรเก็บเปลือกทิ้ง เพื่อไม่ให้เกะกะลูกไก่ที่ออกมาทีหลัง
5. เมื่อลูกไก่ออกหมดแล้ว ควรทิ้งไว้ในรัง 24 ชั่วโมง จึงค่อยเอาลงจากรัง
แม่ไก่ 1 ตัวควรให้ไข่สำหรับฟัก 10-12 ฟอง แล้วแต่ขนาดของแม่ไก่และฤดู ในฤดูร้อนจะฟักออกได้น้อยกว่าฤดูหนาว วิธีที่จะทราบว่าไก่ตัวไหนฟักได้กี่ฟอง ให้ลองเอาไข่ใส่ให้มันลองหมอบดู และให้มิดอกเมื่อเวลากก ถ้าไข่ล้นอกให้เอาออกเพราะจะทำให้ไข่เสียได้และพาฟองอื่นให้เสียไปด้วย
สาเหตุที่ทำให้การฟักไม่ได้ผลดี
1. มีไข่ที่ไม่มีเชื้อปนอยู่มาก เรียกว่าไข่ลม
2. เป็นไข่ที่มีเชื้ออ่อนแอ
3. เก็บไข่ไว้ไม่ดี
4. ไข่เก่าเกินควร
5. มีไรรบกวนแม่ไก่
6. แม่ไก่ทิ้งรังบ่อยๆและครั้งละนานๆ การทิ้งรังบ่อยๆทำให้อุณหภูมิในการฟักเปลี่ยนไป จึงฟักไม่ได้ผล
7. การเลี้ยงดูแม่ไก่ไม่ถูกต้อง เช่นปล่อยให้อดอาหาร กินอาหารไม่เพียงพอ ขาดการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร
วิธีส่องไข่ฟัก
ระยะที่ควรจะส่องดูไข่ คือหลังจากวันที่ 7 เมื่อนำไข่ฟัก และวันที่ 17 อีกครั้งหนึ่ง ควรจะส่องแดดหรือส่องไฟดู วิธีส่องไข่นั้น ทำได้โดยง่าย คือเอาไฟไว้ในหีบซึ่งเจาะรูเป็นรูปไข่ ให้แสงลอดออกมา เมื่อเอาไข่ไปยังรู แสงจะสะท้อนเข้าไปในไข่ ทำให้มองเห็นข้างในได้ตลอด หรือมิฉะนั้นใช้กระดาษหรือกระบอกไม้ไผ่ ทำเป็นรูปกล้อง แล้วเอาฟองไข่ปิดปากกล้อง แล้วหันไปทางแสงอาทิตย์ ก้จะเห็นข้างในของไข่เช่นเดียวกันกับส่องไฟ
ไข่ที่มีเชื้อดี มีชีวิต จะเห็นมีเส้นเลือดสีแดงแผ่ไปตามด้านในเปลือกคล้ายกับใยแมงมุม และจะเห็นเชื้อลูกไก่ลอยขึ้นลอยลง ดิ้นไปดิ้นมาได้ถนัด ไข่ที่มีลักษณะนอกจากนี้เป็นไข่เสีย ควรคัดออก
วิธีสังเกตไก่สาวเริ่มไข่
1. หงอน เมื่อไก่สาวตั้งต้นไข่ หรือแม่ไก่เริ่มไข่อีก หงอนจะขยายตัวโตเต่งขึ้นกว่าเก่าเป็นอันมาก มีสีแดงเข้มและอุ่นจัด และหน้าก็จะแดงด้วย หงอนไก่สาวที่ยังไม่เริ่มไข่จะเล็กสีแดงแต่ไม่เข้ม และไม่อุ่นจัด
2. เสียงร้อง ไก่ยังไม่สาวมักจะร้องต๊อกๆๆไม่เป็น เมื่อมันจะไข่มันจึงจะร้องเป็น และเที่ยวหารังไข่
3. รูปร่าง รูปร่างของไก่สาว ตอนท้องกางออกทำให้ดูเป็นรูปสามเหลี่ยม และท้องยานลงหาดิน
4. คลำดูไข่ โดยใช้นิ้วชี้แหย่เข้าไปในช่องทวารหนักของไก่ ถ้าไก่เริ่มไข่นิ้วก็จะกระทบไข่ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปราวครึ่งองคุลี เป็นก้อนแข็งกลมและรู้สึกว่าเป็นรูปไข่
วิธีทำรังไข่
1. รังไข่กล เมื่อไก่เข้าไปแล้วออกไม่ได้มีประโยชน์สำหรับบอกให้รู้ว่าไก่ตัวไหนไข่ ไม่ไข่ เราจะรู้ได้เพราะแม่ไก่ถูกขังอยู่ในรังกลตลอดเวลา
2. รังไข่ธรรมดา มีประโยชน์สำหรับให้ไก่เข้าไปอาศัยอยู่ได้สำหรับไข่ และเมื่อไก่ไข่แล้วก็ออกมาได้เอง
การผสมพันธุ์ไก่
ไก่เมื่อได้อาหารสมบูรณ์และมีสูตรอาหารที่ถูกต้องตามที่ร่างกายต้องการแล้ว มันจะไข่ให้เจ้าของได้อย่างเต็มที่หรือเต็มความสามารถของมัน
หลักการผสมพันธุ์
ตัวผู้เป็นหัวใจของการผสมพันธุ์ ในการผสมพันธุ์หรือการบำรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นนั้น ตัวผู้ที่คุมฝูงเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นตัวผู้ใหญ่เป็นพ่อของฝูง ลูกทุกตัวที่เกิดมาในชั่วแรกจะมีเลือดของตัวผู้ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นถ้าตัวผู้มีเลือดดี เลือดของมันก็จะถ่ายให้แก่ลูกฝูงทั่วๆไป ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงควรหาตัวผู้ที่มีเลือดดีมาคุมฝูง ลูกในฝูงก็จะดีตามไปด้วย
ความสำคัญของตัวเมีย คือแม่พันธุ์นั้นย่อมมีความสำคัญในการผสมพันธุ์ให้มีเลือดดีขึ้น เพราะถ้าตัวผู้มีเลือดดี มีลักษณะดี ตัวเมียก็มีเลือดดีตระกูลดี ลูกเกิดมาจะดียิ่งขึ้น ถ้าตัวผู้ดีตัวเมียเลว ลูกที่เกิดมา ก็จะมีคุณสมบัติปานกลาง เนื่องจากความเลวของตัวเมียคอยถ่วงความดีของตัวผู้ไว้
หลักการคัดเลือก
1. ตระกูลหรือเลือด
2. บุคลิคลักษณะ
3. ความสามารถ
ตระกูลหรือเลือด
นี้มีอยู่ 2 สายคือ สายพ่อสายหนึ่ง สายแม่สายหนึ่ง นับถอยหลังไปชั่วหนึง สัตว์ตัวหนึ่งจะมีบรรพบุรุษเป็นสองตัวคือ สายพ่อหนึ่ง สายแม่หนึ่ง
นับถอยหลังไปอีกชั่วที่สองบรรพบุรุษจะเป็น 4 สาย คือสายพ่อสอง สายแม่สอง ถ้านับถอยหลังไปอีกบรรพบุรุษจะทวีขึ้นเป็น 8 ในชั่วที่สาม เป็น 16 ในชั่วที่สี่ เป็น 32 ในชั่วที่ห้า ทวีขึ้นเป็นลำดับ ผลของการทดลอง ในการผสมพันธุ์สัตว์ สัตว์ที่มาจากตระกูลหรือเลือดดี หมายถึงบรรพบุรุษดีจะให้ลูกดีกว่าสัตว์ที่มาจากตระกูลหรือสายเลือดเลว มีบางครั้งที่สัตว์ที่มาจากตระกูลดีอาจจะให้ลูกเลว แต่โอกาสมีน้อยมาก
การที่เราจะรู้ว่าสัตว์มีตระกูลเป็นอย่างไรนั่น ต้องอาศัยการดูประวัติ นักเลี้ยงสัตว์ที่ดี จะต้องทำประวัติสัตว์แต่ละตัวเอาไว้อย่างละเอียด ว่ามีบรรพบุรุษมาจากไหน เป็นต้นว่าไก่ตัวนี้พ่อแม่มีเลือดเป็นอย่างไร จะต้องบันทึกไว้อย่างละเอียด มีเบอร์แต่ละตัวด้วย นี่เรียกว่าประวัติ
บุคลิกลักษณะ
หมายถึงลักษณะประจำตัว ที่แสดงออกของสัตว์ เช่น รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก สี อายุ ความสามารถของสัตว์เป็นตัวๆไป สัตว์ที่มาจากตระกูลดี มิใช่จะดีทุกตัวไป ต้องอาศัยบุคลิกลักษณะประจำตัวของมันอีกด้วย
ความสามารถ
ความสามารถเป็นสิ่งสำคัญในการคัดเลือกในการคัดเลือกไก่ทำพันธุ์ เมื่อคัดเลือกจากตระกูลที่ดีและบุคลิกที่ดีแล้ว ความสามารถจะต้องดีด้วย เลือกแม่พันธุ์ก็ทำนองเดียวกัน ถ้าเราต้องการทราบว่า มันให้ลูกเก่ง ตรงกับความคาดคะเนของเรา หรืออยากรู้ว่ามันให้ลูกดีไหม ต้องสังเกตดูลูกของมันทุกตัว ดูต่อไปเราก็จะทราบได้ว่าแม่ไก่ให้ลูกดีหรือไม่ดี
การเปลี่ยนพ่อฝูง
การเปลี่ยนพ่อฝูงนั้น มีความจำเป็นเหมือนกันเพราะพ่อฝูงบางตัวมีสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่มีสมรรถภาพควรแก่จะคุมฝูงต่อไป ฉะนั้นควรเปลี่ยนทุกๆปี หรือทุกๆ 2 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการผสมระหว่างพ่อกับลูก ซึ่งอาจจะทำให้ลูกในฝูงต่อไปเกิดอ่อนแอ หรือมีขนาดเล็กลง
พ่อฝูงที่หามาใหม่จะต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่ควรจะมีตระกูล บุคลิก ลักษณะ ตลอดจนความสามารถดีกว่าเดิมเสมอพ่อฝูงนั้น
วิธีแก้ไก่จิกไข่
ไก่บางตัวมีนิสัยไม่ดีคือจิกไข่ หรือกินไข่ตัวเอง วิธีป้องกันคือ หาวัตถุดำๆ เช่นเปลือกถั่วเขียวรองรังและทำให้รังมิดชิดหน่อย เมื่อไข่แตกมันจะมองไม่เห็น วัตถุรองรังควรให้หนา เพื่อป้องกันไข่แตก ตามพื้นที่มีไข่ตกอยู่ ควรรีบเก็บอย่าให้ทันไก่มีโอกาสกินได้ ถ้าไก่ได้กินและรู้จักรสเสียแล้ว วิธีแก้ไขคือ หาไข่ปลอมมาวางทิ้งในเล้าหลายๆใบ เมื่อไก่ไปจิกมันจะเจ็บปากและเข็ดไปเอง วิธีนี้เป็นวิธีแก้นิสัยแม่ไก่ที่ชอบกินไข่ของตัวเองได้ดี
เปรียบเทียบความสำคัญของตัวผู้และตัวเมีย พูดถึงความสำคัญในการให้ลูกแล้ว ตัวผู้ให้ลูกได้มากกว่าตัวเมียเพราะตัวผู้สามารถผสมกับตัวเมียได้หลายตัว และลูกทุกๆตัวย่อมมีลูกจากตัวผู้ครึ่งหนึ่ง สัตว์ตัวผู้ทำการสืบพันธุ์ได้เรื่อย ไม่เหมือนตัวเมียซึ่งต้องเสียเวลาในการอุ้มท้อง ลักษณะตัวผู้ย่อมถ่ายไปเร็วกว่าตัวเมีย ดังนั้นตัวผู้จ่าฝูง ย่อมสำคัญกว่าตัวเมียในฝูงมาก
การฟักด้วยเครื่องฟัก
มี 2 วิธีคือ 1. เครื่องฟักแบบน้ำร้อน
2. เครื่องฟักไฟฟ้า
ขนาดเครื่องฟักตามความเหมาะสมและความจำเป็น เครื่องฟักต้องมีส่วนสัมพันธ์ดังนี้
1. ตู้และถาดไข่
2. ความร้อน เช่นตะเกียง ไฟฟ้า
3. เครื่องบังคับความร้อน ปุ่มปรับความร้อนหรือการขยายตัว
4. ช่องระบายอากาสหรือพัดลม
5. ที่ให้ความชื้น ทำเป็นจานโลหะตื้นๆ วางอยู่ใต้ถาด
เครื่องฟักแบบน้ำร้อน
เป็นเครื่องฟักที่อาศัยความร้อนของน้ำเป็นเกณฑ์
สัปดาห์แรก ขนาดความร้อน 102.5 ฟาเรนไฮท์
สัปดาห์ที่สอง " 101 "
สัปดาห์ที่สาม " 100 "
การกลับไข่
กลับไข่วันละ 3-5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 2-18 วัน หลังจากนี้แล้วไม่ต้องกลับไข่ เมื่อครบ 10 วัน ลูกไก่จะฟักออกเป็นตัว คือออกจากเปลือกไข่ เมื่อออกจากเปลือกไข่แล้วให้นำไปกกจนครบ 21 วัน ก่อนที่จะนำไข่ฟักอีก ควรจะรมตู้เพื่อฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจึงเปิดช่องระบายออกให้หมด
เครื่องฟักแบบไฟฟ้า
มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ ชนิดมีถาดไข่ชั้นเดียว และชนิดมีถาดไข่หลายชั้น ถ้ามีถาดไข่ชั้นเดียวคงใช้วิธีเดียวกับเครื่องฟักแบบน้ำร้อน การใช้เครื่องฟักแบบไฟฟ้าสะดวกกว่าการใช้เครื่องฟักแบบน้ำร้อน คือไม่ต้องทำความสะอาดขูดเขม่าทุกวัน
เครื่องฟักที่มีถาดหลายชั้น มีพัดลมหรือที่ปรับอากาศหรือเครื่องปรับอุณหภูมิในตู้เครื่องฟัก อุณหภูมิมีดังนี้
ความร้อน 99.5-100 องศาฟาเรนไฮท์ใน 18 วันแรก
ความร้อน 98-99 " ใน 3 วันหลัง
การกลับไข่ ถ้ากลับด้วยมือควรกลับวันละ 3-4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ที่นำไข่เข้าฟัก ถ้ากลับด้วยเครื่องอัตโนมัติ ก็ต้องกำหนดระยะเวลาของการกลับไข่ วันละ 24-48 ครั้ง
วิธีรมยาตู้
ใช้เคมีรมเพื่อทำให้ตู้ฟักสะอาดก่อนที่จะฟักใหม่ เพื่อความปลอดภัยของลูกไก่ที่ออกมาภายหลัง และเพื่อมิให้เปอร์เซนต์จำนวนสูง
อัตราส่วนของสารเคมีต่อปริมาณตู้ หรือ เครื่องฟัก 100 ลูกบาศก์ฟุต
ด่างทับทิม 1.25 กรัม
ฟอร์มาลิน 30-35 ซี.ซี. ถ้าเครื่องฟักมีขนาดเล็ก ควรลดอัตราเคมีลงตามส่วน
วิธีผสม
ตวงฟอร์มาลิน ลงในภาชนะ นำด่างทับทิมใส่ลงในจานเคลือบหรือจานดินเผา เอาจานข้าววางกลางเครื่องฟัก เทฟอร์มาลินลงในด่างทับทิม แล้วปิดฝาหรือเครื่องฟักและช่องอากาศไว้ประมาณ ? - 1 ชั่วโมง จึงค่อยเปิดช่องอากาศตามปกติ นำเครื่องรมนี้ออกมาทำความสะอาดและเก็บไว้ใช้ในคราวต่อไป
ในการรมยาครั้งหลัง เป็นภายหลังที่ลูกไก่ออกจากไข่ฟักใหม่ๆแล้วต้องรมในขณะที่ลูกไก่ยังขนเปียกอยู่ อย่ารมในขณะที่ลูกไก่ขนแห้งแล้ว มิฉะนั้น ลูกไก่จะเป็นอันตรายให้นำลูกไก่ที่ขนแห้งออกเสียก่อนจึงค่อยรม
การเจริญเติบโตของลูกไก่ในเปลือก
เมื่อนำไก่เข้าฟักภายใน 24 ชั่วโมงหรือ 1 วันแรก ลูกไก่จะเริ่มมีชีวิตอยู่ในลักษณะท่าขวางของไข่ เริ่มจะเป็น หัว หาง ตุ่ม ปีก ขา ประสาท หัวใจ ปาก โดยชีพจรจะเริ่มเดินเมื่อชั่วโมงที่ 30-36 เมื่อระยะฟักนานเข้า จะเจริญเติบโตจนหันด้านหัวหรือปากไปทางด้านป้านของไข่
วันที่ 6-7 เริ่มเป็นรูปร่างของลูกไก่ ตุ่ม ปีก ขา และศีรษะจะโตกว่าตัว
วันที่ 8 เริ่มมีขุมขนตามผิวหนัง
วันที่ 9 เป็นรูปร่างของลูกไก่เต็มตัว มีจงอยปากค่อยแหลมขึ้นและแข็งแรงพอที่จะใช้เจาะเปลือกเวลาออก
วันที่ 10-14 เริ่มมีขนชัดขึ้น มีเล็บเท้าและเกล็ดแข้งแข็งขึ้น
วันที่ 15-16 ไข่แดงเริ่มใช้มากขึ้นในการเสริมสร้างความเจริญเติบโตของลูกไก่ ให้มีจงอยปาก เล็บ เกล็ด แข้งสมบูรณ์ ในระยะนี้ ไข่ขาวถูกใช้เกือบหมด
วันที่ 17 น้ำหล่อเลี้ยงถุงหุ้มลูกไก่เริ่มจะหมดไป
วันที่ 18-19 ถุงไข่แดงเริ่มเข้าช่วงท้อง ปากลูกไก่จะหันไปทางช่องอากาศ จะเริ่มเจาะช่องอากาศนี้โดยสัญชาตญาณ ระยะนี้ปอดทำงานได้เต็มที่ และจะเจาะเปลือกไข่เรื่อยไป
วันที่ 20 เมื่อปอดเริ่มทำงาน ระบบการหายใจของอวัยวะพิเศษในตัวลูกไก่ก็หมดไป
วันที่ 21 ลูกไก่จะออกเปลือกหมด ศีรษะของไก่จะอยู่ด้านทางป้านของไข่ใต้ปีกขวา ขาจะตั้งชันขึ้นเมื่อใช้ปากจิกเปลือกจนเกือบรอบเปลือกไข่แล้ว มันจะดันศีรษะออกมาก่อนและเมื่อออกพ้นเปลือกแล้วยังจะนอนอ่อนเพลียอยู่สักพักหนึ่ง จนกว่าขนของมันจะแห้งจึงขยับลุกขึ้น และเดินเหินได้เล็กน้อย

เทคนิคการพัฒนาพันธุ์ไก่ชน

ด้านร่างกาย
- ต้องมีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี กล้ามเนื้อแข็งแกร่ง
- โคลงสร้างรูปร่าง กระดูกใหญ๋ ทรวดทรงดี ล่ำสัน มีน้ำหนักประมาณ 3 กก.ขึ้น ลำตัวยาว
- น้ำอด น้ำทนดี สีสันสวยงาม
- ว่องไว ตีมีลำหักลำโค่นดี หรือเชิงดี ตีไว ตีแม่น ตีลำโต และตีจุดสำคัญหรือแผลครู
- ไม่ขี้โรค


ด้านจิตใจ
- มีสัญชาตญาณเป็นนักสู้ มีจิตใจเป็นเพชฌฆาต ได้โอกาสขยี้ให้ตาย เพชฌฆาตไม่ทิ้งนาทีทอง
- มีปฏิภาณไหวพริบ แก้ทางหรือแก้เชิงคู่ต่อสู้ได้ หรือมีความฉลาด
- มีจิตใจที่ทรหดอดทน สู้เต็มร้อย หรือที่โบราณว่า"สู้ยิบตา"
- มีความโกรธและโมโห คือ เวลาถูกตีเจ็บต้องเอาคืน และต้องตีคู่ต่อสู้ให้เจ็บกว่า

เทคนิคการเพาะพันธุ์ไก่ชน

1. คัดสายพันธุ์ที่ดี หาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ที่เป็นสายพันธุ์สายเลือดที่ดี ที่เก่ง หรือเหล่าไก่เก่ง มีประวัตินำออกชนชนะมาหลายตัว จะมีแพ้บ้างก็ไม่เป็นไร
2. การคัดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ควรหาที่มีลักษระรูปร่างหน้าตาที่ดี หรือใกล้เคียงที่สุดตามหลักโหงวเฮ้งไก่เก่ง หรือลักษณะไก่ชนที่ดีตามตำรา
หากเราสามารถหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ให้มีคุณสมบัติตามข้อ 1, 2 แน่ใจได้เลยว่า ลูกไก่ที่เพาะจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ และดีเด่น เหมือนสายพันธุ์ พ่อ แม่ และ ปู่ ย่า ตา ยาย ของมัน แม้ว่าไก่ตัวนั้นจะไม่เก่ง แต่ถ้าเราเอาลูกของมันไปผสมเป็นรุ่นหลาน รุ่นเหลน ต่อไปก็จะได้ไก่ที่มีลักษณะเด่นพิเศษ เหมือนเทือกเถาเหล่ากอ หรือโครตเหง้าของมันแน่นอน
อนึ่งแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก ขนาด 3.00 กก.ขึ้นไป ไม่ควรให้ฟักไข่เอง เพราะมักจะเหยียบไข่แตก และกลายเป็นไก่กินไข่ตัวเองไป ควรให้แม่ไก่ที่มีขนาดเล็กฟักและเลี้ยงลูก จะดีกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือใช้ไก่แจ้เป็นมือปืนก็ยิ่งดี
การเพาะตามสายพันธุ์ คือการเพาะตามสายพันธุ์หรือสายเลือดเดียวกัน การเพาะพันธุ์แบบนี้ รุ่นลูกมักจะไม่ค่อยเก่ง หรือเก่งก็ไม่มาก แต่จะไปเก่งในรุ่นหลาน รุ่นเหลน จึงจะได้ลูกไก่ที่มีลักษณะเด่นเหมือนพ่อพันธุ์ตัวแรก หรือเหมือนโคตรเหง้าของมัน ซึ่งผสมพันธุ์ดังนี้


พ่อพันธุ์ ก + แม่พันธุ์ ข = ลูกไก่สายเลือด กข คือลูกไก่ ค, ง, จ, ฉ
ลูกไก่ ค + ลูกไก่ ง = ได้ลูกไก่รุ่นหลาน 1, 2, 3, 4……..
ลูกไก่ จ + ลูกไก่ ฉ = ได้ลูกไก่รุ่นหลาน 5, 6, 7, 8……..
ลูกไก่ 1 + ลูกไก่ 5 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 9, 10, 11……..
ลูกไก่ 2 + ลูกไก่ 6 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 12, 13, 14……..
ลูกไก่ 3 + ลูกไก่ 7 = ได้ลูกไก่รุ่นเหลน 15, 16, 17……..
ในการเพาะพันธุ์ตามที่สมมุติขึ้น หมายความว่าเราต้องคัดรุ่นลูกรุ่นหลาน ตัวที่มีลักษณะดีสวยงามตามพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ดั้งเดิม หรือปู่ย่าของมัน รวมทั้งชั้นเชิงฝีตีนมาทำพันธุ์ต่อ โอกาสที่จะได้ลูกไก่ที่มีคุณสมบัติเหมือนพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เดิมของมันก็มีสูง
แต่การเพาะพันธุ์แบบสายพันธุ์เดิม มักจะเกิดปัญหาเลือดชิด ลูกไก่ที่ได้ออกมาบางตัวจะแคระแกร็น มีตำหนิ เช่น ปากบิด ปากเบี้ยว นิ้วหงิก นิ้วงอ และอกคด ทางแก้ก็คือเปลี่ยนพ่อพันธุ์ หากไม่ต้องการสายเลือดอื่นมาผสม ก็อาจใช้ลูกหลานของพี่น้อง ของพ่อ แม่เดิมมาผสม ก็พอจะแก้ปัญหาเลือดชิดไปได้บ้าง
ข้อสังเกต ในการเพาะพันธุ์ตามสมมุติข้างต้น ที่ใช้ พ่อพันธุ์ไก่ ก ผสมแม่พันธุ์ไก่ ข ลูกที่เกิดขึ้น คือ ไก่ ค ง จ ฉ น่าจะมีเลือดพ่อ และแม่ อย่างละครึ่ง แต่ข้อเท็จจริงอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น คือ
ลูกไก่ ค อาจมีเลือดพ่อ 30% เลือดแม่ 70%
ลูกไก่ ง อาจมีเลือดพ่อ 40% เลือดแม่ 60%
ลูกไก่ จ อาจมีเลือดพ่อ 50% เลือดแม่ 50%
ลูกไก่ ฉ อาจมีเลือดพ่อ 60% เลือดแม่ 40%
ขึ้นอยู่กับยีนส์ของแต่ละตัว จะหนักไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่มีเลือดพ่อ เลือดแม่อย่างละครึ่งหรือข้างละ 50%
การผสมพันธุ์ต่างสายพันธุ์ เป็นการผสมพันธุ์ของไก่ต่างสายเลือดกัน หรือไม่ได้เป็นญาติกัน เช่น การผสมพันธุ์ไก่เหลืองหางขาว สมมุติใช้พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากอยุธยา ผสมพันธุ์กับไก่เหลืองหางขาวที่มาจากเขตหนองจอก หรืออาจจะใช้แม่พันธุ์หลายตัวมาจากหลายจังหวัดก็ได้ เช่น
พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวอยุธยา + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวหนองจอก = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก
พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวอยุธยา + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวแปดริ้ว = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-แปดริ้ว
คัดลูกไก่อยุธยา-หนองจอก และลูกไก่ อยุธยา-แปดริ้ว ที่มีรูปร่างขนาด ทรวดทรงที่สวยงามถูกต้องตามตำรา รวมทั้งทดสอบดูชั้นเชิงฝีตีนว่าเข้าขั้นมาตรฐานมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อ ลูกไก่ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่มีสายเลือด "อยุธยา-หนองจอก-แปดริ้ว" ถือว่าเป็นสายพันธูของเราที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ แต่ถ้าเรายังยึดหลักการเพาะพันธุ์ตามสายพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ลูกไก่ของเราเลือดชิดกันขึ้นเรื่อยๆ อาจสูงเกิน 50% โดยหลักการแล้วควรให้มีเลือดชิดได้ระหว่าง 15-25% และไม่ให้เกินกว่านี้
วิธีป้องกันเลือดชิด การผสมพันธุ์กันไม่ควรให้เกิน 5 รุ่น ก็ควรเปลี่ยนพ่อพันธุ์ คือ หาพ่อพันธุ์ใหม่ในโทนสีเหมือนเดิมมาเป็นพ่อพันธุ์ใหม่ ก็จะเป็นการป้องกันเลือดชิดได้ หรือหาพ่อพันธุ์ใหม่มา 2 ตัว ผสมกับแม่พันธุ์ที่เป็นเหล่าของเราที่พัฒนาแล้ว เช่น
1. พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากสุพรรณ + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา-สุพรรณบุรี
2. พ่อพันธุ์เหลืองหางขาวจากนครปฐม + แม่พันธุ์เหลืองหางขาวสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา = ลูกไก่สายพันธุ์อยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา-นครปฐม
แล้วนำไก่ที่ได้จาก(1)และ(2) มาเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ต่อ และสามารถนำลูกไก่ที่ได้กลับไปผสมกับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ หรือที่มีสายเลือดอยุธยา-หนองจอก-ฉะเชิงเทรา โดยวิธีการดังกล่าวก็สามารถป้องกันเลือดชิดได้ และเราสามารถได้ลูกไก่ที่มีลีลาชั้นเชิง ฝีตีนคล้ายและใกล้เคียงกับสายพันธุ์ดั้งเดิม
ข้อควรจำ เราต้องไม่หยุดอยู่กับที่ หรือพอใจกับชั้นเชิงของไก่ที่เรามีอยู่ เราต้องพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป เช่น เราต้องการไก่ชั้นเชิงแบบไหน ก็หาพ่อพันธุ์ที่มีชั้นเชิงแบบนั้นๆมาเป็นพ่อพันธุ์ สับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากเราหยุดเมื่อไรไก่ของเรามีโอกาสเป็นไปได้ 3 ประการ คือ
- เลือดชิด
- ชั้นเชิง ฝีตีน ตามชาวบ้านเขาไม่ทัน
- ไก่เหล่าของเราที่เคยเก่งก็จะกลายเป็นอดีตไปเท่านั้นเอง

การคัดไก่ที่จะนำมาเลี้ยง

การดูชั้นเชิง
ในอดีตไม่ค่อยพิถีพิถันกับเชิงไก่มากนัก ผู้ชำนาญในการเล่นไก่มักจะพูดว่าหากไก่ยืนดินแน่นๆจะตีแม่นและแรง ปัจจุบันก็มักจะได้ยินนักเลงไก่พูดเหมือนกัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักเล่นไก่หัวโบราณ พวกยึดติดกับของเดิม ชาตินิยม ไม่ยอมรับของผู้อื่น กลัวเสียเหลี่ยมนักเลง จึงมักจะซอยเท้าอยู่กับที่ เชิงไก่ในอดีตแบ่งเป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ
1. ไก่ตั้ง หรือไก่ยืน ยังแบ่งออกเป็น
- ยืนเกี่ยว 2 หน้า ชอบตีหัว หน้าคอ ตุ้ม หน้าหงอน ดีมาก
- ยืนชอบหน้าหงอน ดี
- ยืนชอบหน้าคอ ดี ถ้าลำไม่โตก็ไม่ได้เรื่อง
- ยืนเป็นไม่ได้เรื่อง
2. ไก่ลง จะต้องเป็นไก่แข็ง และลำโตจึงจะใช้ได้ ขนหัวไม่ร่วง
3. ไก่พานขึ้น - พานลง ก็มีให้เห็นเก่งเยอะ ขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดและลำหัก ลำโค่นของไก่ด้วย
สรุป ไก่เก่งได้ทุกเชิง ขึ้นอยู่กับลำหักลำโค่น ความฉลาด ความแข็งแรง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไก่เชิงดีจะเล่นได้นาน และออกตัวได้ดีกว่าไก่เชิงไม่ดี


เชิงไก่ปัจจุบัน
เชิงชนไก่ (ไม่รวมลูกตี) แบ่งเป็น 3 ประเภทกว้างๆ
1. สองคอ (ขี่อย่างเดียว) ดี
2. สองคอ สองปีก (กอด มัด) ดีมาก
3. สองคอ สองปีก สองขา (ขี่ มัด ลง) ดีที่สุด
1. เชิงชน 2 คอ
ในไก่เชิงที่ดีจะต้องเป็นไก่เดินเร็ว (กอด กด ขี่ บด ขยี้ ล็อก มัด เท้าบ่า ม้าล่อ ลงจิกขาลอดทะลุหาง) ไก่ 2 คอเป็นไก่ เชิงบนจัด กอด กด ขี่ ซ้าย-ขวา คออ่อน เหนียวแน่น ถ้าได้เชิงดีจะชนะไก่ได้ไว ยิ่งเจอคู่ต่อสู้ยืนพิงแปะหน้า ยืนดินแน่น ขาไม่เดิน เดินช้า จะเสียเหลี่ยมหงายไพ่ตัวเอง เพราะเดินไม่ทัน ชนะไว ไก่เชิง 2 คอเก่งๆจะต้องกอด กด ขี่ เหนียวแน่น เอาอกทับไหล่คู่ต่อสู้ หัวกดไปที่กลางหลัง โคนคอ ขาเดินไวแน่น เพื่อเข้าท้าย-หลังคู่ต่อสู้ คอจะต้องอ่อน คีบประคองคู่ต่อสู้เหนียวแน่น ค่อยๆรูดจากโคนคอ-กลางคอ-หูนอก-และหัวเรียกว่า หนุไต่ราว ยิ่งถ้าสูงกว่าคู่ต่อสู้ด้วยแล้ว ชนะไว
ข้อเสีย ไก่กอด กด ขี่ ถ้าพบคู่ต่อสู้เชิงเดียวกัน ตีเจ็บพอกัน เกิดเสียเปรียบคู่ต่อสู้ (ต่ำกว่า เล็กกว่า) ถ้าเป็นไก่ 2 คอแท้จะไม่ยอมไก่ จะคัด-บิดคอคู่ต่อสู้ตลอด ถึงแม้จะเพลี่ยงพล้ำก็ไม่ยอมหลบเข้าปีก เมื่อเดินไม่ทันก็จะขวางคู่ต่อสู้ (เป็นไก่ท่องให้ตีเสี่ยงเหมือนกัน)
2. เชิง 2 คอ 2 ปีก
เป็นไก่ที่พัฒนามาจากข้อ 1 ในไก่เก่งจะมีเชิงนี้เยอะ (บน 50 ปีก 50) ไก่เชิง 2 คอ 2 ปีกจะเป็นไก่ฉลาด มีลูกหากินเยอะ นอกจากมีลูกกอด กด ขี่ที่ดีแล้ว ในกรณีเพลี่ยงพล้ำคู่ต่อสู้จะเปลี่ยนกระบวนท่าเชิงบนเป็นไก่เชิงล่างเข้ามุดล็อก มัดปีก ในกรณีที่เดินไม่ทันจะมุดหลบเข้าปีก ทำเชิงมัดรัดปีก หรือเสียเปรียบคู่ต่อสู้ สู้เชิงบน กอด กด ขี่จะสู้ไม่ได้ จะเดินไม่ทัน จะมีลูกแก้ไขเล่นเชิงมัดรัดปีกเข้าสู้ เมื่อคู่ต่อสู้อ่อนล้าจึงเล่นเชิงบน กอด กด ขี่ บดบี้ ขยี้ซ้ำ ถ้าตีเจ็บพอกัน ไม่เสียเปรียบรูปร่างชนะ 80%
3. เชิง 2 คอ 2 ปีก 2 ขา
เป็นเชิงไก่ที่พัฒนามาจากข้อ 1และข้อ 2 เป็นไก่เก่ง เจอไก่เก่งตัวใดมีอาวุธหลากหลายกว่าย่อมได้เปรียบ เรียกว่า 50/50 หากตัวใดมีหมัดหนักอีกต่างหากย่อมได้เปรียบ เชิงลงลอดทะลุขาก็เป็นลูกแก้ไขและสำคัญอีกลูกหนึ่ง ทำให้คู่ต่อสู้ขาอ่อนและหมดแรง ลูกยกดั๊มเท ลูกไถนา ลงลอดขา และบิดคอซ้าย-ขวาโดยเร็วขาคู่ต่อสู้จะอยู่บนหลัง ถ้าไถนาบ่อยๆคู่ต่อสู้จะขาอ่อน หมดแรงไว จาก 1-3 จะต้องเป็นไก่เดินเร็ว หากเดินช้า ความเก่งจะน้อยลง
1. ไก่ขี่ (เดินไว) 5 SPEED (2 คอ) มี 3 ประเภท
1.1 ขี่ เดินใน หัวตั้งตรง 90 องศา (กอด เกี่ยว) ดี หลุดง่าย
ไก่ขี่เดินในเหนียวแน่น กอด เกี่ยว หัวตั้งตรง 90 องศา ถ้าเป็นไก่ปากไว ปากถึง-ตีนถึง จะเก่งชนะได้ไว ถ้าเจอไก่ยืนหรือเกาะเกี่ยวเชิงเดียวกัน ถ้าเจอพม่าก็เจ็บ ถ้าไม่มีลูกหน้าก็จะลำบากเพราะเกาะเกี่ยวหัวสูงจะหลุดง่าย หรือเจอไก่ 2 ปีกจัดๆ ตีหลังตีสวาปแรงจะลำบาก ปลายน้ำแผ่วมีสิทธิ์ถูกล็อก ถูกมัดเป็นไก่โง่เซ่อได้ง่าย เว้นเสียแต่บังคับไม่ให้คู่ต่อสู้เข้าปีกมีลูกหน้าและลูกทุบหลัง ไก่ล็อกมัดเข้าปีกทุบหลังบ่อยๆก็แย่เหมือนกัน ไก่ทุบหลังจัดๆ (ตีเจ็บ) อันหนึ่งขอทุบเพียง 3 ทีก็เหลือเฟือจะชนะ ลูกทุบหลังเป็นลูกที่เซียนไก่กลัว โดนแล้วยุบฟื้นตัวยาก
1.2 ขี่ หัวลึก หัวเฉียง 45 องศา (กอดโคนคอ) ดีมาก
ไก่ขี่หัวลึก หัวเฉียง 45 องศา ปากไว กอด กด ขี่ เหนียวแน่น หัวลึก เชิงชนดูจะปลอดภัยกว่าไก่เชิงขี่ใน กอด เกี่ยว แต่ก็ชนะได้ช้ากว่าเชิงกอด เกี่ยวหัวสูง ไก่ขี่หัวลึกจะได้ทำเชิงรูดโคนคอ เอี้ยวมาหาหูนอกหรือหัว ทำเชิงกระบวนเพลง หนูไต่ราว เด็ดผักบุ้ง ต้องทำเชิงแต่งตัวช้ากว่าจะตีได้ แต่ก็ปลอดภัยกว่าเมื่อเจอพม่า เจอไก่ปีก มุด มัด ก็ 50/50 เจอไก่เดินใน กอด เกี่ยว ก็เสี่ยงเพราะจะตีได้ช้ากว่า ยกเว้นหากมีลูกทีเด็ด ตีลำหักลำโค่นกว่า ลูกเชิงเสียเปรียบต้องวัดกันที่ลูกตี
1.3 ขี่ ล็อก กดโคนคอ-หัว
ขี่ล็อกกดโคนคอรูดมาหาหัว ทำเชิงหนูไต่ราว เด็ดผักบุ้ง ดีที่สุดในกระบวนไก่เชิงขี่ 2 คอ เจอพม่าก็ปลอดภัย กดพม่า พม่าจะยุบจะถอยก็ไม่หลุด เพราะกดโคนคอ พม่าเจอล็อกก็อ่อนใจ เจอไก่ขี่ด้วยกันจะได้เปรียบเชิง ถ้าตีเจ็บพอกันจะได้เปรียบ เว้นเสียแต่ตีเจ็บปวดกว่ากันมาก เชิงดีกว่าก็จะสู้ไม่ได้
ไก่ขี่ดี จะต้องถนัดทั้งซ้าย-ขวา กอดเหนียวแน่น ถ้ารูปร่างไม่เสียเปรียบ ไหล่เท่ากัน ยากที่คู่ต่อสู้จะตีหัวได้ ตรงกันข้ามจะพยายามจับตีคู่ต่อสู้จนได้ ไก่ขี่ดีเหมือนจ๊อกกี้ขี่ม้า ขี่ไม่ดีเหมือนขี่วัวขี่ควาย
เดินหลายจังหวะ ไก่ฉลาดเดินดี มันจะประคองหัวคู่ต่อสู้ตลอดเวลา เรียก "กอดประคอง" คู่ต่อสู้เดินช้ามันก็จะเดินช้า เดินแบบระมัดระวัง คู่ต่อสู้เดินไวมันก็จะเดินไวด้วย เดินอย่างไรก็ได้ให้อยู่ด้านหลังคู่ต่อสู้ บางตัวขี่ส่งเดช(วิ่ง) เดินไวตลอด ทำให้หลุดได้ง่าย เรียกว่าเดินจังหวะเดียว ทำให้พลาดง่าย เมื่อถูกตีจะลนลาน เจอพม่าแพ้ลูกเดียว ลูกแก้ไขในไก่ขี่ถ้าเจอคู่ต่อสู้ในเชิงเดียวกัน รูปร่างพอกัน ลูกตีพอกัน ตัวไหนฉลาดกว่า มีลูกแก้ไขที่ดีกว่าก็จะได้เปรียบคู่ต่อสู้ ลูกแก้ไขมีหลายอย่าง เช่น พอเดินไม่ทันก็จะต้อง
1. กดบ่าตีตัว
2. หลบเข้าปีก มัดตี สวาปทุบหลัง
3. ลงทะลุท้อง เข้าขาโผล่ตูด ตีสวาปหลัง
2. ไก่เชิงมัด(2 ปีก) มี 3 แบบ
1.1 มัดโคนปีก ดีที่สุด
1.2 มัด 7 เส้น ดีมาก
1.3 มัดปลายปีก ดี
ไก่เชิงมัดจะต้องเป็นไก่เดินเร็วจึงจะดี ถ้าเดินช้าความเก่งจะน้อยลง ในกรณีเจอคู่ต่อสู้เดินเร็วกว่าจะมัดลำบาก นอกจากเดินไวแล้วปากจะต้องไวด้วย ถ้าเป็นไก่ลำโตยิ่งเก่งมาก ไก่มัดดีจะต้องเดินหัวใน หัวไวหลบเข้าปีกซ้าย-ขวาได้คล่องแคล่ว โดยคู่ต่อสู้ไม่รู้ตัวจะได้เปรียบอยู่ข้างหลังคู่ต่อสู้ตลอดเวลาจะเป็นตัวตีตลอดแพ้ยาก (ตีสวาป ทุบหลังจะเก่งมาก)
มัดฉลาด ไก่ที่มัดเก่งๆคล้ายมวยตีเข่า เมื่อรัดเอวคู่ต่อสู้แล้วยากที่จะหลุด ไก่ก็เหมือนกันคู่ต่อสู้ดิ้นหลุดยาก ไก่ที่มัดเก่งๆเมื่อหัวเข้าปีกจะรีบบิดคอซ้าย-ขวาโดยเร็ว แล้วเอาอกดันสีข้างคู่ต่อสู้เอาหลังไหล่ดันกระทุ้งปีกโดยเร็ว คู่ต่อสู้ไม่มีทางดิ้นหลุด ถูกมัด ถูกตีบ่อยๆคู่ต่อสู้จะอ่อนลงเรื่อยๆ ส่วนมากไก่มัดจะตีสีข้าง ปั้นขา หลัง ไก่มัดจะหมดความเก่งทันทีถ้าไม่สามารถตีคู่ต่อสู้ได้ ไก่มัดปัจจุบันเรียกว่า ไก่ 2 ปีก(คือ มัดปีกซ้าย-ขวา)
3. ไก่ลง (2 ขา) ลอดทะลุหาง แบ่งเป็น 3 ประเภท
3.1 ลงทะลุหาง พอใช้
3.2 ลงงัด(ดั้ม) ดี-ดีมาก
3.3 ลงฉีกขา (ไถนา) ดีที่สุด(หายาก)
ไก่ลง ไก่เก่งขนหัวจะต้องไม่ร่วง จะดูไม่ออกว่าเป็นไก่ลง มุดเข้าท้องเร็ว คู่ต่อสู้ไม่รู้ตัว รีบกลับตัวเร็ว ไก่ไถนาเก่งๆเวลามุดเข้าท้อง พอหัวทะลุขาไหล่จะอยู่ระหว่างขาไก่ตัวยืน มันจะรีบบิดคอซ้าย-ขวาพร้อมกับยกตัวไก่ตัวที่ยืนจะเสียหลัก จะเดินโขยกเขยกขาเดียว เนื่องจากขาอีกข้างหนึ่งจะอยู่บนหลังคู่ต่อสู้ ภาษามวยเรียกว่า ลูกไถนา คู่ต่อสู้จะหมดแรง ยิ่งถูกไถนานานจะยิ่งหมดแรงไว บางตัวไถนาน 2-3 นาทีกว่าจะหลุด ไก่ไถนาจะตีตูด ตีหลัง หายากมากในปัจจุบันหาได้ยากกว่าไก่เชิงม้าล่อ(ม้าเลาะ)
ไก่เชิงพม่า
1. ถอยแล้วสาด ลักษณะของชั้นเชิงชนในแบบนี้ก็คือ การก้าวถอยหลังรอให้คู่ต่อสู้เดินเข้ามา เมื่อได้จังหวะก็จะสาดแข้งเปล่าเข้าใส่โดยไม่ต้องจับ วิ่งการสาดแข้งเปล่าในลักษณะนี้ จะสร้างความกังวลให้กับคู่ต่อสู้เป็นอย่างมาก ยิ่งโดยเฉพาะไก่ที่กอดเก่งๆ เมื่อมาเจอลีลาถอยแล้วสาดอย่างนี้ยิ่งสร้างความกังวลให้อย่างมาก ลีลาก้มถอยแล้วสาดนี้นับเป็นลีลาเชิงชนสุดยอดที่เซียนไก่พม่ามักนิยมกันอย่างแพร่หลาย และพยายามอย่างยิ่งที่จะหาพม่าเชิงนี้มาครอบครอง เพราะถือว่าเป็นเชิงชนที่เยี่ยมยอดที่สุดของไก่พม่า
2. เดินแล้วสาด ในเชิงนี้จะเป็นลักษณะการก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกับการหาจังหวะในการสาดแข้งเปล่าใส่คู่ต่อสู้โดยไม่ต้องจับ ซึ่งในเชิงนี้ค่อนข้างจะเสี่ยงกว่าเชิงแรกมาก เนื่องจากการเข้าปะทะหน้าตรงๆนั้น หากไปเจอคู่ต่อสู้ที่มีลูกสาดนำ รวมทั้งมีแข้งเปล่า และเป็นลูกผ่านพม่าที่สะสมเชิงถอยสาดเอาไว้ก็จะเจ็บตัวกับอาวุธของคู่ต่อสู้ได้ไม่น้อยทีเดียว
การก้าวเดินหน้าแล้วสาดแข้งเปล่า ผลแพ้ชนะจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ด้วยเช่นกัน ในทัศนะของเซียน ไก่พม่าตัวที่เดินเข้าหามักจะเป็นฝ่ายแพ้เสียส่วนใหญ่ ลีลาเดินหน้าแล้วสาดแข้งหากจะให้ดีควรที่จะเสริมลีลาก้มต่ำแล้วส่ายหัวไปมาเข้าไปด้วย เพราะการก้มต่ำนั้นเปรียบเสมือนการซ่อนจุดเปราะบริเวณคอและหน้าเอาไว้ให้ต่ำลง รวมทั้งยังสามารถหลบหลีกได้ในบางจังหวะอีกด้วย
3. ลงต่ำแล้วสาด สำหรับเชิงชนนี้จะยืนนิ่งๆอยู่กับที่เพื่อหาจังหวะสาดแข้งใส่คู่ต่อสู้ ไก่พม่าที่มีชั้นเชิงการยืนนิ่งๆ มักจะเป็นไก่ที่ชอบใช้จังหวะสองได้ดี หากคู่ต่อสู้เข้าหลวมและเสียจังหวะเมื่อไหร่ เจ้าพม่าจะไม่ปล่อยให้พลาดจังหวะอย่างเด็ดขาด มันจะสาดแข้งคมๆเข้าใส่คู่ต่อสู้อย่างไม่ยั้งทีเดียว
4. ถอด เชิงนี้เป็นอีกเชิงหนึ่งที่ดุเดือดเผ็ดมัน เพราะเชิงถอดนี้จะเป็นเชิงที่เมื่อถูกขี่หรือกดคอแล้วไก่พม่าจะถอดชักหัวหรืชักลิ่มออกมาทำให้คู่ต่อสู้หลุดถลำลงต่ำ และในจังหวะนี้เอง ไก่พม่าก็จะจับในระยะกระชั้นชิดพร้อมกับสาดแข้งใส่อย่างดุดัน ซึ่งลีลาการชักลิ่มเป็นการพลิกสถานการณ์ที่รวดเร็วจากการที่โดนกดคุมคออยู่ มาเป็นการชักคอออกแล้วจับหูนอกโดยที่คู่ต่อสู้ไม่ทันระวังตัว
ลีลาการถอด(ชักลิ่ม)แล้วจับหูนอกตีนี้ บางครั้งอาจจะได้พบไก่พม่าบางตัวเข้ากอดและเข้าปีกมัดเป็นเหมือนกัน นั่นเท่ากับลบล้างความเชื่อที่ว่าไก่พม่ามัดไม่เป็น แต่อย่างไรก็ตามน้ำหนักในเชิงนี้ไม่ค่อยจะหนักหน่วงหรือเห็นผลเร็วนัก เนื่องจากจะเป็นการตีในลักษณะหันข้างเสียมากกว่า
5. ม้าล่อ ในเชิงนี้เป็นเชิงพม่าม้าล่อโดยจะวิ่งวนไปรอบๆสังเวียนเพื่อให้คู่ต่อสู้วิ่งตาม จนเมื่อได้ระยะและได้จังหวะแล้วก็จะหันกลับมาสาดแข้งใส่คู่ต่อสู้ จากนั้นก็จะวิ่งต่อ หรือถ้าหันกลับมาสาดแล้วดูท่าทางคู่ต่อสู้มีอาการ ก็จะพันตูต่อกรเพื่อพิชิตศึกทันที ลีลาม้าล่อนี้หากตีคู่ต่อสู้ไม่อยู่ในยกต้นๆจึงมักจะพ่ายแพ้ในยกท้ายๆเสมอ
สำหรับเซียนไก่ที่ต้องการนำไก่ชนของไทยเข้าชนกับไก่พม่านั้น การอ่านเชิงพม่าให้ขาดนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในทุกครั้งที่ทำการเปรียบไก่ คู่ต่อสู้มักจะยอมให้เราจับตัวไก่ได้ และในขณะที่คู่ต่อสู้เผลอนั้น เราสามารถจะทดสอบได้ว่าพม่าตัวนั้นๆเป็นไก่เชิงอะไร คือหลังจากที่จับตัวไก่จนพอใจแล้ว ให้ปล่อยไก่พม่ายืนอย่างสบายๆโดยให้หันหน้าเข้าหาเราแล้วหันท้ายเข้าหาเจ้าของ(กันเจ้าของสังเกตเห็น) จากนั้นก็จับไปที่ลำคอส่วนล่างไกล้ๆสามเหลี่ยมของไก่แล้วบีบเบาๆอย่าให้ไก่เจ็บจนตื่น ไก่พม่าเป็นไก่ที่มี สัญชาตญาณป่าค่อนข้างสูง เมื่อเราบีบที่ลำคอเขา เขาจะแสดงธรรมชาติของเขาออกมาทันทีว่าเป็นไก่เชิงไหน โดยสังเกตได้จากอาการที่เขาแสดงออกดังนี้
1. หากเราบีบแล้ว เขาดึงตัวถอยหลัง แสดงว่าเป็นไก่เชิงถอย
2. หากเราบีบแล้ว เขาหดคอลงแต่ไม่ถอย แสดงว่าเป็นไก่ยืนแล้วสาดจังหวะสอง
3. หากเราบีบแล้ว เขาดึงคอกลับและเบี่ยงตัวออกด้านข้าง แสดงว่าเป็นไก่ถอดหัวดี
4. หากเราบีบแล้ว เขาเสือกหัวขึ้นมา แสดงว่าเป็นไก่กอดเชิงบน
5. หากเราบีบแล้ว เขาขืนตัวดันไปข้างหน้า แสดงว่าเป็นไก่ชอบเดินเข้าหา
ข้อดีข้อเสียไก่ไซง่อน
ข้อดี
1. กระดูกใหญ่ กระดูกแข็งแรง จึงมีไขกระดูกมากและไขกระดูกคือปอดสำรองช่วยหายใจ การส่งกำลังสำรองภายในร่างกายดีมาก จึงมีความอึด ยืดระยะ เมื่อหมดยกอาจดูเพลียๆบ้าง แต่เมื่อให้น้ำแล้วพละกำลังจะกลับคืนสู่สภาพเดิมเร็วมาก ไก่จะดูสดชื่นฟื้นตัวเร็วและหากเบียดสูสีมักจะเป็นตัวชนะมากกว่า
2. กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก เนื้อแน่น กระดูกและเส้นเอ็นดีมาก ซึ่งถ้าเปรียบไก่ตีกันโดยวัดรอบอกแบบไทย ไก่ไซง่อนจะได้เปรียบ เพราะมันจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าไก่ไทย
3. ปอดและระบบหมุนเวียนเลือด รวมทั้งหัวใจดีมากมันจึงออกกำลังกายได้นานๆ และฟื้นตัวจากการตีเร็วมาก หายเหนื่อยเร็ว ถ้าเลี้ยงได้ที่แล้วในระหว่างที่ตีกันมันจะไม่อ้าปากหอบ เนื่องจากมีสภาพของอวัยวะภายนอกและภายในดีมาก จึงแข็งแรงเร็วเลี้ยงไม่นานก็นำไปตีได้
4. ปากใหญ่ หนา แข็งแรง ประกอบกับกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อมันจิกจึงทำให้เกิดบาดแผลที่หนังของคู่ต่อสู้ได้มากกว่า ทำให้ได้เปรียบคู่ต่อสู้ตั้งแต่ต้นเพราะปากจะต้องใช้จับตี หากปากเหนียว ปากทนจะได้เปรียบคู่ต่อสู้มาก
5. หนังหนา หนังเหนียวเปิดแผลยาก ตีให้ฉีกขาดหรือแตกได้ยาก ถูกตีหัวมากๆหัวจะไม่ค่อยบวมด้านหัวไม่ค่อยแตก เมื่อให้น้ำและติดกระเบื้องแล้วหนังหัวเกือบเหมือนเป็นปกติ และในการเลี้ยงไม่ต้องอาบขมิ้นผสมปูนบ่อยครั้ง เพราะหากอาบบ่อยครั้ง จะทำให้ขนเปราะหักง่าย และทำให้ไก่มีขนโรยเร็ว ถ่ายขนเร็ว ทำให้การเลี้ยงชนสั้นลง การมีหนังหนานั้นได้เปรียบมากหากกติกาเป็นแบบพันเดือย หรือสวมนวมเดือย ส่วนมากมีความทรหดสูงมาก แต่จะต้องมีการคัดพันธุ์ด้วย เพราะไก่ไซง่อนบางเหล่าก็จะใจเสาะ ไม่แตกต่างจากไก่ชนสายพันธุ์อื่นเช่นกัน
6. ตีลำหนัก ลำโตและเจ็บปวด ฝังลึกกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อตีเป้าหนาปล่อยแข้งแรงมาก การตีแต่ละครั้งของมันจึงทำให้คู่ต่อสู้เจ็บลึกๆได้มาก ตีไก่ฝังแข้ง ตีไก่หยุดชะงัก ตีไก่ปวด ตีไก่กลัว เช่น ตีตัว เป็นต้น ทั้งนี้เพราะไก่ไซง่อนกระดูกใหญ่แข็งและแข็งแรง โค่นยากจะได้เปรียบคู่ต่อสู้มากหากชนภายใต้กติกาพันเดือยหรือสวมเดือย
7. มีขนาดใหญ่ปานกลางถึงใหญ่ แต่ไม่ใหญ่มากเกินไป จึงเป็นพันธุ์ที่เหมาะในการเป็นพันธุ์ยืนในการผสมพันธุ์ เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่
8. มีความอดทนเป็นเลิศ ไม่กลัวไก่ โดนตีเจ็บแค่ไหนก็จะวิ่งเข้าใส่
ข้อเสีย
1. ส่วนมากเชื่องช้าเนื่องจากกระดูกใหญ่ ตัวใหญ่ วิธีแก้ก็คือ นำไปผสมพันธุ์กับไก่ที่ปากเร็ว เท้าเร็ว และการเคลื่อนตัวเร็ว แต่ไก่ไซง่อนบางเหล่าถ้าหากคัดพันธุ์ดีดีแล้วก็จะมีพวกปากเร็วและเท้าเร็วก็มี สาดเท้าเปล่าก็มี
2. ส่วนมากเชิงไม่มาก เป็นไก่ไม่สู้คอ ส่วนมากแล้วเมื่อถูกเบียดดัน ถูกเลี้ยวคอบังคับถูกคอถูกขี่ มันจะวิ่งท่องมักจะก้มหัว วิ่งเลาะอยู่ประมาณใต้กระเพาะมักจะยืนหัวสูง หรือบางเหล่ามักโชยหัว วิธีแก้ก็คือ คัดเหล่าที่ยืนหัวสูงไปผสมกับไก่พันธุ์อื่นที่มีชั้นเชิงดีและปากเร็ว เท้าเร็วจะได้พันธุ์ใหม่ที่ดีขึ้น
3. ส่วนมากขนน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุไม่เกิน 4 เดือนขนจะขึ้นช้า ทำให้แพ้ฝน แพ้ลม แพ้ยุง และการแพ้อากาศเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เช่น เป็นหวัดง่าย วิธีแก้ไข คือให้หลอดไฟ เลี้ยงในบริเวณลมไม่โกรก มีแดดร่ม พื้นดินแห้งและมีหลังคากำบังน้ำฝนมากกว่าหลังคาโล่ง กางมุ้งให้ ให้อากาศดีสม่ำเสมอ มีหญ้ากินเพียงพอ และผสมวิตามินรวม วิตามินอี และวิตามีนซีในอาหารและในน้ำให้กินบ่อยๆ นำไปผสมพันธุ์กับไก่ที่มีปีกขนตัวดีจะไดลูกผสมที่มีขนดีขึ้น
4. ได้คู่ชนยาก เพราะรูปร่าง หน้าตาน่ากลัว แข้งใหญ่และแข็งแรง และหนังหนาสีแดง ทำให้เจ้าของไก่คู่ต่อสู้ไม่อยากชนด้วย หากจะชนก็ต้องเปรียบหรือต่อรองน้ำหนัก การนำไปผสมพันธุ์กับสายพันธุ์อื่นจะช่วยซ่อนความน่ากลัวเหล่านี้ได้
5. เปรียว ไก่ไซง่อนเป็นไก่ที่เปรียว ไม่ยอมให้จับง่ายๆ เลี้ยงจนจะออกตีได้อยู่แล้วก็ยังเปรียวอยู่ แต่ลดน้อยลง
6. เดือยไม่ส่ง คือเดือยงอกช้า ยาวช้า กระดูกแกนเดือยเล็ก แต่เปลือกเดือยหนาและแข็งแรง

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ลักษณะไก่ชนพระนเรศวรมหาราชโดยละเอียด

หัว ตั้งแต่ปลายหงอนถึงคอมีลักษณะโค้งมน ขนหัวตั้งแต่หัวคิ้วทั้งสองข้างปลายประสานกันตรงกลาง ดูเป็นเส้นตรง ดูเป็นสันตรงกลางหัว
หน้า แหลมยาว เรียว เหมือนนกยูง ไม่หนาใหญ่เทอะทะ อันจะตกเป็นเป้าโจมตีได้ง่าย และเชื่อว่าไก่หัวโตจะเป็นไก่โง่หรือไก่ดื้อ
ตา มีขนาดเล็กตาขาวมีสีขาวอมเหลือง มีเส้นเลือดแดงโดยรอบหัวตาแหลมเป็นรูปตัว V ซึ้งเกิดจากเปลือกตาบนและล่างบรรจบกันที่หัวตาจึงดูเหมือนตาเรียวเรียกว่า ตาสดใส จัดเป็นไก่ฉลาดและบึกบึน
หู หูทั้งสองข้างมีขนสีเหลืองและขาวเหมือนสีของตัวไก่ ขนหูมาก ปิดรูหูมิดไม่มีขี้หู (หากมีขี้หูแสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์หรือกำลังอาจไม่สบาย )
ตุ้มหู เป็นเนื้อสีแดงจัดเหมือนสีของหน้าไก่ มีรูปยาวรีขนาดไม่ใหญ่และไม่ยาน
เหนียง เป็นแผ่นเนื้อ 2 แผ่นอยู่ใต้คางตั้งแต่โคนปากล่างทั้ง 2 ข้างลงมาปิดลูกกระเดือกมีสีแดงจัด ไม่ยาน


หงอน จัดอยู่ประเภทหงอนหินมี 3 แถวตามยาวโดยแถวกลางสูงกว่า หงอนมีสีแดงจัดตั้งอยู่บนหัว ตั้งแต่โคนปากไปจนถึงหัวไก่ด้านล่าง หงอนด้านหน้าเหมือนปากมีลักษณะ บางและตรงกลางหงอนสูง หงอนแดงจัดแสดงว่าไก่ฟิตจัด
ปาก ปากมีสีขาวอมเหลืองมีขนาดยาว โคนปากใหญ่ ขอบปากและปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท รูปร่างคล้ายปากนกแก้ว ขนาดปากหนาและงุ้มลักษณะแข็งแรงมั่นคง ปากบนมีร่องตั้งแต่โคนตรงรูจมูก
รูจมูก ทั้งสองข้างยาวและใหญ่โคนปากทั้งสองข้างช่วยให้หายใจคล่องเมื่อไก่เหนื่อย สันกระดูกเหนือรูต่อจากโคนปากจะมีสีขาวอมเหลือง
คิ้ว โหนกคิ้วเป็นสันโค้งปิดเป้าตา ทำให้ป้องกันลูกตาได้ดีจากการตี
คอ นับตั้งแต่ใต้คางลงมาถึงหัวไหล่ ต้องยาวและใหญ่กระดูกแต่ละข้อถี่
สร้อย สร้อยปะบ่าระย้าปะก้น สร้อยมีสีเหลืองทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยปีกหรือสร้อยหลัง
สร้อยคอ มีสีเหลืองลักษณะเส้นเล็กและหนาแน่นยาวปะบ่า
สร้อยหลัง มีสีเหลืองแหลมปลาย ยาวระย้าปะถึงก้นหลัง หลังแผ่ขนาดใหญ่
ปีก เมื่อกลางออกจะเห็นกล้ามเนื้อปีกใหญ่ หนาตลอดทั้งปีก เอ็นยึดกระดูกแข็งแรง ขนปีกขึ้นหนาแน่นชิด มีความยาวเท่ากันขนปีกยาวถึงกระปุกน้ำมัน
กระปุกก้น อยู่เหนือโคนหาง มีขนาดใหญ่อยู่ชิดกับกระดูกก้นกบ
ต่อมน้ำมัน อยู่เหนือกระปุกก้นเหนือโคนหาง มีขนาดใหญ่และสองต่อมอยู่ติดกัน
ตะเกียบตูด เป็นกระดูกสองอันออกจากกระดูกซี่โครงสุดท้ายยาวถึงก้นเป็นกระดูกหนาแข็งแรงลักษณะโค้งเข้าหากันและอยู่ชิดกันทั้งสองข้าง เชื่อกันว่าจะเป็นที่ตีเร็วและแรงดี
หาง จะมีสีขาวเป็นส่วนใหญ่ กะลวยหางเป็นสีขาว หางทั้งหมดดูเป็นพวงใหญ่ ยาวโค้งไปทางด้านหลัง ปลายหางห้อยตกลงเล็กน้อยดูแล้วสวยงาม แสดงว่าเป็นไก่ที่มีกำลังดี
ปั้นขา กล้ามเนื้อโคนขามีขนาดใหญ่ แสดงว่ามีกำลังดี
อก อกกว้างใหญ่ กล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกแข็งแรงโค้งเป็นท้องเรือยาว อกกว้าง เวลายืนโคนขาจะห่างจากกัน
กระดูกไหปลาร้า อยู่ระหว่างหัวปีกมายังหน้าอกเป็นกระดูกใหญ่และยาวแข็งแรง แสดงว่าเป็นไก่ที่ตีทน พลังสูง
แข้ง สีของแข้ง เกล็ดนิ้วเท้า เล็บและเดือยมีสีเหลืองอมขาว แข้งมีขนาดเล็ก กลม มีเกล็ดแข้ง 2 แถว
นิ้ว มีลักษณะยาวปล่อยนิ้วเรียว นิ้วกลางยาวเรียว มีเกล็ดตั้งแต่ 20 เกล็ดขึ้นไป เหนือฝ่านิ้วเท้ามีปุ่มตรงข้อเป็นลักษณะคล้ายเนื้อด้านนิ้วละ 3 ข้อ ทำให้ยึดจับดินได้ดียืนมั่นคง
อุ้งตีน หนังอุ้งตีนบางเวลายืนอุ้งตีนต้องไม่ติดพื้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาอุ้งตีนบวมได้
เล็บ มีสีเหมือนแข้ง คือมีสีเหลืองอมขาว โคนเล็บใหญ่หนาแข็งแรง ปลายแหลม
นิ้วก้อย ปลายนิ้วจะแผ่ใหญ่ เกล็ดมีรอยแตกตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไป แสดงว่าเวลาตีแล้วแทง
เสียงขัน ขันเสียงใหญ่ ยาว แสดงถึงความมีพลังหรือเป็นไก่ที่แข็งแรงสมบูรณ์
ท่ายืน ยืนยืดอกตรงยืนขาตรงชิดข้อขาไม่งอหัวปีกยกการยืนต้องมีลักษณะที่เรียกว่ายืนผงาดดังราชสีห์ซึ้งแสดงว่าเป็นไก่ที่ไม่ยอมก้มหัวให้คู่ต่อสู้ข้อขาที่ยืดตรงแสดงว่าเป็นไก่เตะแม่น
เดือย มีสีขาวอมเหลือง เป็นกระดูกที่ออกมาจากแข้งด้านใน โคนมีขนาดใหญ่ เรียวแหลม คมที่ปลายเดือยงอนช้อนเล็กน้อย และโคนเดือยต่ำชิดนิ้วก้อย (ห่างกันไม่เกิน 1 ซ.ม. ) แสดงว่าเป็นไก่แทงเก่ง
ท่าเดิน เดินมีสง่าเหมือนกับท่ายืน เวลาเดินยกเท้าขึ้นก็จะกำนิ้วทั้งหมด การเดินมีการระแวดระวังและเฉลียวฉลาด แสดงว่าเป็นไก่ที่มีเหลี่ยมจัด สามารถเปลี่ยนแปลงชั้นเชิงในการตี ได้หลายรูปแบบ

เกล็ดไก่ตามตำราโบราณ

ที่สำคัญมีด้วยกัน 4 แบบ ที่ถือว่าเป็นพญาไก่ คือ เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล เกล็ดผลาญศัตรู นอกจากนี้ยังมีเกล็ดอื่นๆที่มีความโดดเด่นรองลงไปมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน สายฟ้าฟาด (สังวาลเพชร ) กากบาทดาวล้อมเดือน เกล็ดดอกจันทร์ เกล็ดกำไล เกล็ดเดิมพัน เกล็ดอัน เกล็ดอุ้ง เกล็ดใต้เท้าและอื่นๆ
เกล็ดเสือซ่อนเล็บ จะเกิดขึ้นบริเวณข้อพับหรือรอยต่อระหว่างหน้าแข้งกับส่วนของนิ้วลักษณะจะมีเกล็ดแซมขึ้นมาระหว่างเกล็ดหลักที่มีอยู่ มีตั้งแต่ 2 เกล็ดขึ้นไป เกล็ดชนิดนี้ปกติ จะถูกทับหรือคลุมด้วยเกล็ดอื่น ในขณะที่ไก่ยืนอยู่จะไม่เห็นเพราะหลบซ่อนอยู่ภายใน หากคลี่ออกดูจะเห็นชัดเจน



เหน็บชั้นใน จะเกิดขึ้นที่นิ้วใดนิ้วหนึ่ง ส่วนมากจะอยู่ที่นิ้วชี้ เป็นเกล็ดขนาดเล็กที่แทรกซ้อนขึ้นมาตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไป
ไชบาดาล อยู่ที่โคนนิ้วก้อย จะมีลักษณะเกล็ดแตกมากกว่า 3 เกล็ดขึ้นไปต่อลงมาระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วชี้ไปที่อุ้งเท้า
เกล็ดผลาญศัตรู จะมีเกล็ดที่นิ้วชี้แตกตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไปที่ข้างใดข้างหนึ่ง ถือเป็นไก่ที่มีสกุลสูง ในสังเวียนจะไม่แพ้ใครง่ายๆ ในไก่ตัวใดที่สามารถพบเกล็ดทั้ง4 ชนิดในตัวเดียวกัน ถือว่าเป็นสุดยอดของพญาไก่ จัดเป็นสกุลสูงสุดไม่มีคำว่าแพ้

เกล็ดอื่นๆ ที่พบโดยทั่วไป
เกล็ดสายฟ้าฟาด ที่บริเวณด้านหลังของแข้งโดยปกติแล้วจะเป็นเกล็ดอ่อนหรือเกล็ดขนาดเล็ก แต่หากเกิดเป็นเกล็ดใหญ่และแข็งเหมือนเกล็ดด้านหลังแข้งเรียงกันเป็นแถว 1-2 แถว จะเรียกเกล็ดนี้ว่าเกล็ดสายฟ้าฟาด ไก่ที่มีเกล็ดนี้จะตีหนัก ตีตายหาได้ค่อนข้างอยาก
เกล็ดดาวล้อมเดือน หรือดอกจันทร์ ลักษณะจะมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ดอยู่ตรงหน้าเดือยหรือใต้เดือยและมีเกล็ดอื่นๆล้อมรอบอีก 4-5 เกล็ด
เกล็ดบัวตูม บัวบาน คล้ายกับดาวล้อมเดือน หากเกล็ดที่อยู่ตรงกลางมีขนาดเล็กล้อมรอบด้วยเกล็ดใหญ่ เรียกว่าเกล็ดบัวตูม แต่หากเกล็ดตรงกลางใหญ่ล้อมรอบด้วยเกล็ดเล็ก จะเรียกว่าเกล็ดบัวบาน ถือเป็นเกล็ดพิฆาตเช่นกัน
เกล็ดกากบาท ที่บริเวณหน้าเดือยจะมีเกล็ดมาเรียงกัน โดยที่รอยแตกของแต่ละเกล็ดอยู่ในแนวเดียวกันหรือต่อกันเป็นรูปกากบาทถือเป็นเกล็ดพิฆาตตีสลบตีตายหากมีทั้งสองข้างจะดี
เกล็ดกำไล คือ เกล็ดใหญ่เกล็ดเดียวที่ออกมาโดดเด่นจากเกล็ดอื่นๆมีขนาดใหญ่และโอบล้อมหน้าแข้งเหมือนกำไลใส่ขา ถือเป็นเกล็ดพิฆาต ตีเจ็บ ตีชัก หากมีทั้งสองข้างถือว่าดี
เกล็ดแตกตรงเดือย ที่หน้าเดือยจะมีรอยแตกของเกล็ดเป็นแนวซึ่งเมื่อลากเข้าหาเดือยแล้วจะเป็นเส้นตรงแนวเดียวกับเดือย ไก่ที่มีเกล็ดแบบนี้จะถือว่าเป็นไก่แทงแม่น แทงจัดใช้เดือย
เกล็ดข้าวตอกแตก เกิดจากเกล็ด 2-3 แถวเรียงกันมาถึงหน้าเดือย แล้วแตกกระจายเป็นหลายแถว เป็นไก่ที่เดินตี ตีชัก
เกล็ดอัน จะมี 2 แบบ คือ เกล็ดเม็ดข้าวโพดและเม็ดข้าวสารอยู่บริเวณด้านข้างของแข้งเรียงขึ้นจากเดือยเป็นแถวหากมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆจากล่างขึ้นบน เชื่อกันว่ามีมากอันไม่ดี หากด้านล่างมีขนาดใหญ่ชัดเจน 3-4 เกล็ด เชื่อว่าจะหักคู่ต่อสู้ได้ในเวลาไม่กี่อัน โบราณเชื่อว่าเม็ดข้าวสารจะดีกว่าเม็ดข้าวโพด
เกล็ดเดิมพัน เป็นเกล็ดที่บอกได้ว่าไก่ตัวนั้นๆเข้าเงินเดิมพันได้ดีหรือไม่ดี เพราะถือว่าเป็นเคล็ดหักล้างกัน เช่น หากเกล็ดเดิมพันไม่ดีแต่ตีเดิมพันสูงจะแพ้ได้ง่าย แต่หากเล่นเดิมพัน พอตัวไม่มาก อาจจะเป็นฝ่ายชนะ เกล็ดนี้จะดูได้จากแถวของเกล็ดที่เรียงขึ้นมาจากนิ้วก้อยผ่านเดือยขึ้นเป็นแนวยาวยิ่งมากจะยิ่งดีสามารถตีเดิมพันได้สูง แต่หากมีน้อยแสดงว่า เข้าเดิมพันไม่ดี บางรายเชื่อว่าสามารถตีครั้งไหนจะชนะ หรือแพ้ โดยดูจากการเรียงของเกล็ด เช่น หากมีเกล็ดขัดอยู่ในแถวที่ 4 แสดงว่าครั้งที่ 1-3 จะดี แต่ ครั้งที่ 4 จะแพ้ให้ แก้เคล็ดโดยการตีเดิมพันต่ำๆเพียง 1-2 อัน แล้วยอมแพ้เพื่อไม่ให้ไก่ช้ำ ต่อจากนั้นให้นับหนึ่งเริ่มต้นใหม่จากด้านล่างเป็นรอบต่อไป
ลักษณะของเกล็ดที่หน้าแข้งจะมีอยู่หลายแบบด้วยกัน คือ เกล็ดกำไลตลอด หรือเกล็ดพันลำ จะมีเกล็ดแถวเดียวคาดตลอดทั้งแข้งหาได้ยากมาก เกล็ด 2 แถว เกล็ด 3 แถว เกล็ดปัดตลอด (เรียงกันเป็นระเบียบสองแถว )เกล็ดตะเข้ขบฟัน (ปลายเกล็ดทั้งสองแถวสลับกัน) เกล็ดพญาครุฑ ( 3 แถวเรียงกันเป็นระเบียบและมีเหน็บแทรกอยู่ตลอด )

ตำนานและประวัติไก่ชนกับพระนเรศวร



การตีไก่ เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในพม่า โดยเฉพาะในราชสำนักถือกันว่า การตีไก่เป็นกีฬาชาววังวันหนึ่งได้มีการตีไก่กันขึ้นระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับไก่มังชัยสิงห์ ราชนัดดา(ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชาในสมัยพระเจ้านันทบุเรง ราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง กำลังกร่ำศึก) มังชัยสิงห์จึงขัดเคืองตรัสประชดประชันหยามหยันออกมา อย่างผู้ถือดีว่ามีอำนาจเหนือกว่า "ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ" สมเด็จพระนเรศวรสวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่าง วันนี้เลย ตีพนันบ้านเมืองกันก็ยังได้มังชัยสิงห์คัดเคืองมากหากแต่ตระหนักดีว่าสมเด็จพระนเรศวร เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนองจะพาลวิวาทก็ยำเกรงฝีมือพระนเรศวร ขณะที่ไก่ของสมเด็จพระนเรศวรกับไก่ของพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี กำลังชนกันอย่างทรหด ต่างตัวต่างเข้าจิก ตีฟาดแข้ง แทงเดือยอย่างไม่ลดละ อย่างคาดไม่ถึง


ขณะที่ไก่ฟาดแข้งกันอย่างอุตลุดพัลวันเมื่อทั้งสองไก่พัวพันกันอยู่พักหนึ่ง ไก่ของพระมหาอุปราชก็มีอันล้มกลิ้งไปต่อหน้าต่อตา ไก่ของพระนเรศวรกระพือปีกอย่าง ทรนงและขันเสียงใส พระมหาอุปราชถึงกับสะอึก สะกดพระทัยไว้ไม่ได้จากตำราเชื่อว่าไก่ที่พระนเรศวรทรงนำไปชนกับพม่านั้น นำไปจากบ้านกร่าง เดิมเรียกว่าบ้านหัวเท ซึ้งอยู่ห่างจากเมืองพิษณุโลก ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตร ขณะที่ชนไก่ พ.ศ. 2121 พระชันษา 23 ปี

ลักษณะทั่วไปของไก่ชนพระนเรศวร
เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ พันธุ์เหลืองหางขาว ตามตำรากล่าวว่า ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง ในทุกพื้นที่ที่มีการเล่นไก่ชน ไก่เหลืองหางขาวมักจะเป็นตัวเอกทุกๆ สังเวียนอยู่เสมอ หรือแทบจะเรียกได้ว่าไก่พันธุ์นี้อยู่ในความครอบครองของนักเลงไก่อยู่เสมอ ไก่เหลืองหางขาวจัดว่าเป็นไก่ที่มีสกุลและมีลักษณะเด่นมาก จากประวัติฝีมือความสามารถ ทำให้มีการพูดเสมอในวงพนันว่า ไก่เหลืองหางขาวกินเหล้าเชื่อ หมายความว่าเมื่อนำไก่สีนี้ไปตี สามารถที่จะเชื่อมั่นได้ว่า จะต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอนสามารถสั่งเหล้าเงินเชื่อมากินก่อนได้เลย

ไก่เหลืองหางขาวที่มีลักษณะตรงตามตำรา
หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง สร้อยระย้า หน้านกยูง อกชัน หวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดยี่สิบสอง ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม อกชัน คือ ยืนยืดอกหรือเชิดอก อันจะทำให้ด้านท้ายของตัวลาดลงต่ำ แสดงถึงความเป็นไก่อันธพาล
หวั้นชิด คือ ข่วงหางอยู่ชิดหรือติดกับบั้นท้ายตรงบริเวณเชิงกราน ทำให้ช่องว่างระหว่างบั้นท้ายกับเชิงกรานแคบแสดงถึงความอึดอดทน
หงอนบิด คือ หงอนไม่ตรงบิดเอียงไปด้านข้างเล็กน้อยแต่ไม่ไช่พับเอียงมากเกินไปเพราะจะเป็นลักษณะที่ไม่ดี แต่จะเชื่อกันว่าหงอนที่เอียงบิดไปทางขวาเป็นไก่ที่มีฝีมือตามตำราแต่หากเอียงทางซ้ายจะไม่นิยม
ปากร่อง คือ ที่บริเวณจงอยปาก จะมีร่องเป็นร่องลึกเข้าไปทั้งสองข้างออกจากรูจมูก อันแสดงถึงความเข้มแข็งไม่หลุดหักง่าย
พัดเจ็ด คือ ที่บริเวณจะพบขนที่เรียกว่าขนพัดข้างละ 7 เส้น
ปีกสิบเอ็ด คือ ขนปีกท่อนนอกมีข้างละ 11 เส้น ช่วยในการบินได้ดี
เกล็ดยี่สิบสอง คือ เกล็ดที่นิ้วกลางนับรวมกันได้ 22 เกล็ด จัดเป็นไก่มีสกุลตีเจ็บตีหนัก รุนแรง


เกล็ดแข้ง ถือเป็นศาสตร์ลึกลับชั้นยอด เป็นเคล็ดวิชาที่เป็นทีเด็ดของนักเลงไก่ระดับเซียน ใครก็ตามที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ จะได้ไก่ที่ชนะตลอดกาล เกล็ดไก่แต่ละตัวจะไม่เหมือนกันแม้จะเป็นครอกเดียวกัน เกล็ดไก่เปรียบเหมือนกับลายมือของคน ที่สามารถบอกอนาคตและฝีมือของไก่ได้ เช่น คนลายมือขาดจะต่อยตีหนัก ไก่มีเกล็ดพิฆาตจะตีชักตีตาย คนที่มองเกล็ดไก่ออกจะต้องมีความชำนาญแบบหมอดูลายมือ


วิธีการผสมพันธุ์ไก่ชน

ไก่ที่จะใช้ผสมพันธุ์ ต้องคัดเลือกจากไก่ตัวผู้ และตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคขี้ขาว เป็นหน่อ มะเร็ง คอคอก หวัด เพราะถ้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นโรคแล้วอาจจะมาติดถึงลูกได้ เพื่อให้ได้ผลในการผสมพันธุ์ ควรใช้ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 5 ตัวและไม่ควรขังให้อยู่ในเล้าที่จำกัด ควรปล่อยให้อยู่ในที่กว้าง ๆ อาหารต้องสมบูรณ์อาหารที่ใช้คือ ข้าวเปลือก ปลาสด (ควรต้มเสียก่อน) หญ้าอ่อน ถ้าไม่มีหญ้าควรให้ผักสดกิน ถ้าทำเช่นนี้ได้จะได้ลูกไก่ที่สมบูรณ์ (ข้อสำคัญไก่ที่จะทำพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ควรนำไปให้ปศุสัตว์ตรวจโรคเสียก่อน)




การเตรียมรังสำหรับฟักไข่

ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น กีฬาชนไก่เป็นกีฬาโบราณ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์ หรือทำรังให้ไก่ฟักย่อมมีพิธีรีตองมากเป็นธรรมดา ถ้าทำลำบากมักจะให้ประโยชน์คุ้มค่าเสมอ ท่านต้องหาของที่โบราณเขาถือมาใส่รังไก่ให้ครบ ท่านก็จะได้ไก่ที่ฟักออกมาเก่ง ๆ ทุกตัว

ของที่ใช้ประกอบการฟักไข่มีดังนี้

1. กระบุง การใช้กระบุงทำเป็นที่รองสำหรับฟักไข่ ก็เพราะว่ากระบุงเป็นภาชนะสำหรับ
ใส่ของซื้อ ของขายได้ทีละมาก ๆ จึงเป็นมงคลด้วย
2. มูลฝอยสำหรับรองรังไข่ ควรใช้ของดังนี้
ก. ไม้ฟ้าผ่า (ทำให้ไก่ตีแรง จนให้คู่ต่อสู้ชักดิ้น)
ข. คราบงูเห่า (ทำให้แข้งมีพิษ)
ค. ทองคำ (ทำให้สีสวย)
ง. ไม้คานหักคาบ่า (ทำให้มีลำหักลำโค่น)
จ. หญ้าแพรก (เวลาชนทำให้ฟื้นง่ายเหมือนหญ้าแพรก)
3. การคัดไข่ การเก็บไข่ไว้ฟักควรเลือกไข่ที่สมบูรณ์ไม่บูดเบี้ยว
และน้ำหนักมาก ไม่น้อย กว่า 45 กรัม หรือใกล้เคียง ถ้าท่านทำได้ตามนี้ท่านจะได้ไก่เก่งประมาณ
80% การทำรังให้ไก่ฟักไม่ควรให้แดดส่อง หรือฝนสาดได้เพราะจะทำให้ไข่เสีย การฟักแต่ละครั้ง
ไม่ควรฟักเกิน 10 หรือ 11 ใบ ถ้าฟักเกินแล้วจะทำให้ไข่เสียมาก ฟักประมาณ

วิธีเลือกไข่ขึ้นฟัก

การเลือกไข่ขึ้นฟัก ใช้สมุดปกอ่อนม้วนเป็นรูปกระบอกแล้ว นำไข่ที่ฟักไปประมาณ 15 วัน ใส่ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ส่องให้ตรงกับพระอาทิตย์ ถ้าไข่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นสีดำสนิท แต่ถ้าไข่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นในไข่เป็นแสงสว่าง ไข่ไม่มีเชื้อควรคัดออกได้เลย ถ้าเก็บไว้มาก นอกจากจะทำให้แน่นกันแล้ว จะทำให้ไข่ดีเสียไปมากอีกด้วย

วิธีเลี้ยงลูกไก่

ตามปกติลูกไก่อ่อนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากมากเพราะจะมีโรคหลายชนิดแล้วยังจะมีสัตว์อื่นรบกวนอีกมากเช่น เหยี่ยว สุนัข งู แมว กา และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นท่านต้องระวังให้มาก หลังจากลูกไก่ออกแล้วให้นำลูกไก่มาขังไว้ในที่ ๆ สะอาด อย่าให้ลมโกรกมาก เวลานอนควรให้นอนในมุ้งอย่าให้ยุงกัดได้ เพราะจะทำให้เกิดโรคฝีดาษได้ อาหารสำหรับลูกไก่ ในระยะ 10 วันแรก ควรใช้ปลายข้าวกล้องอย่างละเอียด ผสมอาหารไก่อ่อนซึ่งมีขายตามร้านอาหารไก่ คลุกกับน้ำพอเปียกให้กิน ส่วนน้ำใช้ไวตามินผสมให้กินหลังจาก 10 วันไปแล้วใช้ข้าวกล้องเม็ดโตผสมอาหารไก่และน้ำเช่นเดิมให้กินพออิ่มแล้ว ใช้ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดต้มให้สุกปั้นเป็นลูกกลอนเล็ก ๆ ให้กิน หรือผสมกับอาหารไก่ให้กินหลังอาหารแล้ว พออายุประมาณ 1 เดือน เริ่มให้กินข้าวเปลือกเม็ดเล็กได้แล้ว หลังจากกินข้าวเปลือกอิ่มแล้ว ควรให้กินปลาตัวละประมาณเท่าหัวแม่มือทุกวัน ลูกไก่ที่ท่านเลี้ยงจะโตเร็วกว่าปกติ โรคสำหรับไก่ชนเราส่วนมากจะมีโรคร้ายแรงอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคบิด ไก่ที่เป็นโรคชนิดนี้ส่วนมากกระเพาะอาหารไม่ย่อย หงอยซึมอยู่ตลอดเวลา ควรใช้ยาซัลฟาควินน็อกซาลิน ผสมน้ำตามส่วนให้กิน หรือใช้หยอดก็ได้ติดต่อกัน 3 วัน แล้วเว้น 1 วันจนกว่าจะหาย การเลี้ยงลูกไก่ หลังจากออกจากไข่แล้วประมาณ 10 วัน ควรให้อยู่กับแม่ก่อน สถานที่เลี้ยงไม่ควรให้แฉะ ควรเป็นที่ร่มมีแดดรำไรและที่สำคัญที่สุดต้องมีหญ้า เพราะหญ้าจะเพิ่มวิตามินซีให้กับไก่


วิธีการเลี้ยงไก่สำหรับชน

การเลี้ยงไก่สำหรับชนนั้น มีหลายอย่างหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ใดจะสั่งสอนมา
แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด
ระยะการปล้ำและทำตัวไก่หนุ่ม
ไก่หนุ่มที่จะเริ่มเลี้ยงครั้งแรก ต้องลงขมิ้นให้ทั่วทั้งตัวเสียก่อน เพื่อสะดวกในการอาบน้ำ
และป้องกันไรได้ดีอีกด้วย
ก. เริ่มอาบน้ำเวลาเช้าทุกวัน ควรใช้ผ้าประคบหน้าทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ
ลงกระเบื้อง เนื้อตัวบาง ๆ แล้วลงขมิ้นตามเนื้อบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดด พอรู้ว่าหอบก็นำไก่เข้าร่ม
อย่าให้กินน้ำจนกว่าจะหายหอบจึงจะให้กินน้ำได้ไก่ผอมไม่ควรผึ่งแดดให้มากเพราะจะทำให้ผอมมากไปอีก ถ้าอ้วนเกินไปต้องผึ่งแดดให้มากสักหน่อย เพราะจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรคุมน้ำหนักทุกครั้งที่มีการซ้อม และการเลี้ยงทุกวันตอนเช้า
ข. อาบน้ำประมาณ 7 วัน แล้วจึงเริ่มซ้อมครั้งแรกสัก 2 ยก ๆ ละไม่เกิน 12 นาที ซ้อมสัก 3 ครั้ง ครั้งที่ 2
ครั้งที่ 3 ซ้อมยกละ 15 นาที รวมแล้วให้ได้ 6 ยก ระยะการปล้ำแต่ละครั้งควรจะมีเวลาห่างกันประมาณ 10 -15 วันพอครบกำหนดแล้วต้องถ่ายยาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว


วิธีล่อ
เวลาประมาณบ่าย 2 โมงเย็น เอาน้ำเช็ดตัวไก่ที่เลี้ยงเล็กน้อย แล้วเอาไก่ที่เป็นไก่ล่อ
จะเป็นการล่อทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่สะดวก แล้วล่อไก่ให้ย้าย คือเอาไก่ล่อ ๆ วนไปข้างซ้าย 10 รอบ เย้ายวนไปทางขวา 10 รอบ
ย้ายจนกว่าไก่ตัวถูกล่อจะไม่ล้มจึงจะใช้ได้ แล้วล่อให้ไก่บินบ้าง ล่อประมาณ 20 - 25 นาทีก็พอ
พอเสร็จจากการล่อเอาขนไก่ปั้นคอ พอหายเหนื่อยแล้วอาบน้ำได้ เสร็จแล้วผึ่งแดดให้ขนแห้งแล้วกินอาหารได้
การใช้ขมิ้น
ทุกครั้งเวลาอาบน้ำไก่ในตอนเช้า ต้องใช้กระเบื้องอุ่น ๆ ประคบหน้าพอสมควร
ถ้ามากนักจะทำให้หน้าเปื่อย แล้วทาขมิ้นบาง ๆ ทุกครั้ง บางคนใช้ทาเฉพาะหน้าอก ขา ใต้ปีก ตามเนื้อเท่านั้น (ใช้ได้เหมือนกัน)
การปล่อยไก่
ไก่ที่เลี้ยงไว้ชนพอเวลาแดดอ่อนๆควรได้ปล่อยไก่ให้เดินตามสนามหญ้าแพรกนอกจากจะให้ไก่ได้เดินขยายตัวแล้ว ไก่ยังมีโอกาสได้กินหญ้าไปในตัวด้วย
วิธีแก้ไขให้น้ำหนักตัวลด
เวลาไก่ชนที่เลี้ยงอ้วนเกินไปน้ำหนักตัวจะมากบินไม่ขึ้น ควรผึ่งแดดให้หอบนาน ๆ หากไก่ผอมมากไปไม่ควรให้ถูกแดดมากเกินไป
เวลานอนควรให้นอนบนกาบกล้วย หรือเอาน้ำเย็นเช็ดตัวบาง ๆ ก่อนนอน การนอนควรนอนในมุ้งทุกคืนเพื่อมิให้ยุงไปรบกวน ไก่จะได้นอนหลับสบาย
การเลี้ยงไก่ถ่าย
การเลี้ยงไก่ถ่าย หรือไก่ที่เปลี่ยนขนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่หนุ่ม ผิดกันตรงที่ไก่ถ่ายต้องปล้ำให้ได้ที่ คือปล้ำครั้งละ
2 ยก ยกละ 15 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวม 10 ยก หรือปล้ำจนกว่าจะบินไม่ล้ม แล้วผึ่งแดดให้นานกว่าไก่หนุ่มหน่อย นอกนั้นเหมือนกันหมด
ยาถ่ายไก่
ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
3. ไพลประมาณ 5 แว่น
4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน) ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง
ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน
น้ำสำหรับอาบไก่
ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
1. ไพลประมาณ 5 แว่น
2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
4. ใบมะกรูด 5 ใบ
5. ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง


ยาบำรุงกำลังไก่
ยาบำรุงที่นิยมกันมากมีหลายขนาน แต่จะยกมาขนานเดียว คือ
1. ปลาช่อนใหญ่ย่างไฟ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 ตัว
2. กระชายหัวแก่ ๆ ประมาณ 2 ขีด (แห้ง)
3. กระเทียมแห้ง 1 ขีด
4. พริกไทย 20 เม็ด
5. บอระเพ็ดแห้ง 1 ขีด
6. นกกระจอก 7 ตัว
7. หัวแห้วหมู 1 ขีด
8. ยาดำพอประมาณ
นกกระจอกนำไปย่างไฟแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำให้ป่น ปลาช่อนก็ตำให้ป่น แล้วนำทั้ง 8 อย่างมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทราให้กินวันละ1 เม็ดก่อนนอนทุกวันจนกว่าไก่จะชน
ยาบางตำราไม่เหมือนกันแต่ได้ผลดีทั้งนั้น แต่ไปแพ้กันตรงที่ไก่เก่งไม่เก่งเท่านั้น
ไก่ที่นำไปชนทุกครั้งถ้าไม่ได้ชน กลับมาจะต้องฉะหน้าถอนแข้งทุกครั้ง ๆ ละ 5 นาที 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปชนต่ออีก



วิธีให้น้ำไก่ขณะกำลังชน
การใช้น้ำไก่เป็นสิ่งจำเป็นในการชนไก่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าท่านให้น้ำไก่ไม่เป็น
เอาไก่ไปชนโอกาสแพ้มีมาก มือน้ำเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตาไก่ของท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องเป็นคนให้น้ำไก่เก่งๆ จึงจะสู้เขาได้
วิธีให้น้ำไก่ก่อนชน
ท่านต้องใช้ผ้ามุ้งบาง ๆ ชุบน้ำเช็ดตัวให้ทั่วตัวทุกเส้นขน แต่อย่างให้ปีกเปียก (เพราะปีกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้)
แล้วเช็ดให้แห้ง ให้กินข้าวสุก จนอิ่มแล้วปล่อยให้เดินเพื่อจะได้ขยายตัว และแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำไก่เข้าชน
พอหมดยกที่ 1
เอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าอก และใต้ปีกเสียก่อนจึงค่อยเช็ดตามตัวให้ทั่ว แล้วตรวจบาดแผลตามหัว ตามตัวว่ามีผิดปกติหรือเปล่า
ตรวจดูตา ตรวจดูปากให้เรียบร้อย ถ้าปากฮ้อ ก็เตรียมผูก ถ้าตาหรี่ก็ควรเสนียดตา หรือถ่างตา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กินข้าวสุกที่บดไว้
ประมาณ 3 - 4 ก้อน แตงกวาแช่น้ำมะพร้าวอ่อน พอให้อิ่มแล้วเอาไก่นอน ๆ ประมาณ 5 นาที
หลังจากนอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอากระเบื้องอุ่นมาเช็ดตามตัว ตามหน้าแข้ง
ขาให้ทั่วบริเวณที่ถูกตี แล้วปล่อยให้เดิน และให้ไก่ถ่ายออกมาเพื่อจะได้ให้ตัวเบา (ยกต่อไปก็ทำเหมือนยกที่ 1 จนกว่าจะแพ้ ชนะกัน)

วิธีรักษาพยาบาลหลังจากไก่ชนแล้ว

ตามปกติไก่ที่ชนมาแล้วจะมีบาดแผลมากน้อยแล้วแต่กำหนดเวลาการต่อสู้ บางตัวก็ชนะเร็ว
บางตัวก็ชนะช้าบาดแผลก็มีมาก เวลาชนเสร็จแล้วควรใช้เพนนิซิลิน อย่างเป็นหลอดทาตามหน้าให้ทั่ว
เพื่อไม่ให้หน้าตึง อย่าใช้ขมิ้นเป็นอันขาด ถ้าบาดแผลมากจริงควรใช้ยาพวกสเตปโตมัยซิน
หรือฉีดยาเทอรามัยซิน หรือจะให้กินยาเต็ดตร้าไซคลินก็ได้ วันละ 1 เม็ด ตอนเย็น
ประการสำคัญ อย่าให้ทับตัวเมียเป็นอันขาด หลังจาก 1 เดือนไปแล้วให้ทับได้



วิธีดูลักษณะไก่ชน

ตามปกติลักษณะ และบุคลิกเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ไก่ชนตัวใดมีบุคลิกลักษณะดี
ไก่ตัวนั้นก็มักจะเก่งเป็นส่วนมาก การดูบุคลิกลักษณะไก่ชนที่เก่งมีส่วนประกอบหลายอย่าง
1. ใบหน้าเล็ก คางรัด
2. หงอน (หงอนบางกลางหงอนสูง) (หงอนหิน)
3. ปากเป็นร่องน้ำสองข้างลึก (ปากสีเดียวกับขา)
4. นัยตาดำเล็ก ตาขาวมีสีขาว (ตาปลาหมอตาย) (หรือตาสีเดียวกับสร้อยคอ)
5. สีของขน
6. สร้อยคอต้องยาวติดต่อสร้อยกลางหลัง
7. ปากใหญ่ยาว



8. คอใหญ่และกระดูกปล้องคอถี่ ๆ
9. หางยาวแข็ง
10. กระดูกหน้าอกใหญ่ ยาว
11. แข้งเล็ก แห้ง ร่องเกล็ดแข้งลึก และกลม เกล็ดแข้งใส เหมือนเล็บมือ
12. นิ้วเล็กยาว เล็บยาว
13. เม็ดข้าวสารนูนเวลาใช้มือลูบจะคายมือ
14. โคนหางใหญ่
15. อุ้งเท้าบาง แคร่หลังใหญ่
16. เส้นขาใหญ่



การดูเกล็ดแข้ง

การดูเกล็ดแข้งก็เหมือนการดูลายมือคน เกล็ดแข้งตามตัวอย่างนี้
มิใช่ว่าไก่ที่มีแข้งแบบนี้แล้วจะไม่แพ้ใคร ลักษณะของการแพ้นั้นมีอยู่หลายวิธี คือ
1. ไก่ไม่สมบูรณ์หมายถึง เจ็บป่วยโดยที่เราไม่รู้ เรานำไปชนก็มักจะแพ้
2. เปรียบเสียเปรียบคู่ต่อสู้ คือเล็กกว่าบ้าง ต่ำกว่าบ้างเป็นเหตุทำให้แพ้ได้
3. ผิดเชิง ไก่บางตัวชอบตีไก่ตั้ง เวลาชนไปเจอไก่ลงตีไม่ได้ก็แพ้ได้เหมือนกัน


เพราะฉะนั้นการดูเกล็ดแข้งจึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้ไว้บ้าง แข้งตามตัวอย่างนี้เป็นส่วน
ประกอบเวลาท่านจะไปหาไก่ถ้ามีเกล็ดแบบนี้แล้ว ท่านทดลองปล้ำดูพอใจแล้วค่อยเอา
ถ้าไก่สมบูรณ์ ชนไม่เสียเปรียบ รับรองว่าชนะมากกว่าแพ้ แต่ว่ารู้สึกว่าจะหายากสักหน่อย


การหาพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ชน

โดยปกตินักเลงเล่นไก่ชนมักจะหวงพันธุ์ของแม่ไก่มากกว่าของพ่อไก่ เพราะถือกันว่าสายเลือดของแม่จะให้ได้ลูกไก่พันธุ์ที่ดี วิธีที่จะหาพ่อพันธุ์ให้ได้ไก่เก่ง ท่านต้องเป็นซอกแซกไปเที่ยวตามบ่อนไก่ชนบ่อย ๆ และคอยดูว่าไก่ตัวไหนที่เก่ง คือตีแม่น ชั้นเชิงดี หัวใจทรหด อดทน ไม่หนีง่าย ถ้าไก่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เวลาชนเสร็จแล้วชนะ หรือแพ้ จะตาบอดหรือไม่ก็ตาม เอามาทำพ่อพันธุ์ได้ (ตามตำราบอกว่าเอาไก่ที่แพ้มาทำพ่อไก่มันให้ลูกเด็ดนักแล) ท่านซื้อตอนนั้นราคาอาจจะไม่สูงนัก เพราะนักเลงไก่เขาไม่ค่อยเก็บเอาไว้ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ดังกล่าว ท่านต้องไปหาซื้อเอาตามบ้านนักเล่นไก่ชน ส่วนแม่พันธุ์ก็ควรให้มีคุณสมบัติเหมือนตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์ ถ้าทำโดยวิธีการสุกเอาเผากินแล้วจะทำให้ท่านได้ไก่ดียาก เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวไหนดีหรือไม่ดีต้องเสียเวลาอย่างน้อยประมาณ 9 - 10 เดือน


วิธีคัดเลือกแม่พันธุ์ และแม่พันธุ์ไก่
โดยปกตินักนิยมเล่นไก่ชนมักจะเลือกสีเป็นอันดับแรก ดังนั้นไก่ที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ควรเลือกจากไก่ที่มีสีดังต่อไปนี้
1. สีเหลืองหางขาว
2. สีประดู่หางดำ เดือยดำ เล็บดำ ปากดำ (หรือปากคาบแก้ว)
3. สีเขียวเลา (มีสีเขียวสลับกับสีขาวทั้งตัว หางขาวด้วย)
4. สีเขียวกา หรือเขียวแมลงภู่ (หางดำ)
เพราะโบราณกล่าวไว้ว่าไก่ 4 สีนี้เป็นสีที่รักเดิมพันมาก ชนได้ราคาแพง ไม่ค่อยแพ้ ส่วนไก่ สีอื่น ๆ นักเลงเล่นไม่นิยมเล่นกัน เพราะเข้าใจว่าเป็นไก่พันธุ์ผสมมาจากสายเลือดอื่น ที่ไม่ใช่ไก่ชนแท้ อาจจะผสมกับไก่โรดส์ หรือไก่เร็คฮอนก็เป็นได้ น้ำใจไก่พวกนี้จึงไม่ทรหดมาก สำหรับแม่พันธุ์นั้นเวลาใช้ผสมพันธุ์ ควรหาให้เป็นสีเดียวกับพ่อพันธุ์ เวลาให้ลูกจะได้สีเหมือนกัน
คุณสมบัติ และลักษณะของพ่อพันธุ์ไก่

นอกจากสีของไก่แล้ว พ่อไก่ควรมีคุณสมบัติ และลักษณะดังต่อไปนี้
1. ควรเป็นไก่ที่มีประวัติที่ดี เคยชนชนะจากบ่อนมาแล้ว
2. ปากต้องใหญ่ มีร่องน้ำ 2 ข้างปากลึก (ปากสีเดียวกับขา)
3. นัยตาควรเป็นสีขาว (หรือที่เรียกว่าตาปลาหมอตาย หรือตาสีขน สีเดียวกับสร้อยคอ)
4. คอใหญ่ และปล้องคอถี่ ๆ
5. หัวปีกต้องใหญ่ และขนปีกยาว
6. นิ้วเล็กเรียวยาว
7. เม็ดข้าวสารท้องแข้งใหญ่ และแข้งกลม
8. สร้อยคอยาวติดต่อกันถึงสร้อยหลัง
9. หางยาวแข็งและเส้นเล็ก
10. กระดูกหน้าอกใหญ่และยาว
11. เดือยใหญ่ และชิดนิ้วก้อยมากที่สุด
12. อุ้งเท้าบางและเล็บยาว
13. เกล็ดแข้งใสเหมือนเล็บมือ และมีร่องลึก

ชั้นเชิงของไก่ชน

ปกติไก่ชนจะมีชั้นเชิงการต่อสู้อยู่ 2 อย่าง คือไก่ตั้ง และไก่ลง ส่วนไก่กอดนั้นเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ไก่ตั้ง แม่พันธุ์ไก่ลง หรือพ่อพันธุ์ไก่ลง กับแม่พันธุ์ไก่ตั้ง ลูกออกมาจึงกลายมาเป็นไก่กอด ส่วนนักเลงเล่นส่วนมากชอบไก่ตั้ง เพราะการต่อสู้ของไก่ตั้งนั้นเหนื่อยช้าไม่ต้องวิ่งมาก เพราะยืนคอยดักตีอย่างเดียว แต่บางคนชอบไก่เชิง เพราะไก่เชิงไม่ค่อยเจ็บตัวเวลาเข้าชนจะลักตีขโมยตี ดังนั้นถ้าท่านจะผสมก็ควรเลือกชั้นเชิงไก่ให้เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าท่านชอบไก่เชิง ก็ควรหาตัวเมียที่มีชั้นเชิงเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านชอบไก่ตั้ง ก็ควรเลือกตัวเมีย ให้ตั้งเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านไม่เลือกชั้นเชิงให้เหมือนกันแล้ว ลูกออกมาจะชนเลอะเทอะเป็นไก่โง่ ควรระวังให้มาก เพราะปกติไม่ค่อยคัดเลือกไก่กัน ผสมกันเรื่อยไปจึงไม่ค่อยได้ไก่เก่ง ได้น้อยตัว