วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ลักษณะไก่ชนพระนเรศวรมหาราชโดยละเอียด

หัว ตั้งแต่ปลายหงอนถึงคอมีลักษณะโค้งมน ขนหัวตั้งแต่หัวคิ้วทั้งสองข้างปลายประสานกันตรงกลาง ดูเป็นเส้นตรง ดูเป็นสันตรงกลางหัว
หน้า แหลมยาว เรียว เหมือนนกยูง ไม่หนาใหญ่เทอะทะ อันจะตกเป็นเป้าโจมตีได้ง่าย และเชื่อว่าไก่หัวโตจะเป็นไก่โง่หรือไก่ดื้อ
ตา มีขนาดเล็กตาขาวมีสีขาวอมเหลือง มีเส้นเลือดแดงโดยรอบหัวตาแหลมเป็นรูปตัว V ซึ้งเกิดจากเปลือกตาบนและล่างบรรจบกันที่หัวตาจึงดูเหมือนตาเรียวเรียกว่า ตาสดใส จัดเป็นไก่ฉลาดและบึกบึน
หู หูทั้งสองข้างมีขนสีเหลืองและขาวเหมือนสีของตัวไก่ ขนหูมาก ปิดรูหูมิดไม่มีขี้หู (หากมีขี้หูแสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์หรือกำลังอาจไม่สบาย )
ตุ้มหู เป็นเนื้อสีแดงจัดเหมือนสีของหน้าไก่ มีรูปยาวรีขนาดไม่ใหญ่และไม่ยาน
เหนียง เป็นแผ่นเนื้อ 2 แผ่นอยู่ใต้คางตั้งแต่โคนปากล่างทั้ง 2 ข้างลงมาปิดลูกกระเดือกมีสีแดงจัด ไม่ยาน


หงอน จัดอยู่ประเภทหงอนหินมี 3 แถวตามยาวโดยแถวกลางสูงกว่า หงอนมีสีแดงจัดตั้งอยู่บนหัว ตั้งแต่โคนปากไปจนถึงหัวไก่ด้านล่าง หงอนด้านหน้าเหมือนปากมีลักษณะ บางและตรงกลางหงอนสูง หงอนแดงจัดแสดงว่าไก่ฟิตจัด
ปาก ปากมีสีขาวอมเหลืองมีขนาดยาว โคนปากใหญ่ ขอบปากและปลายปากคม ปากบนปิดปากล่างสนิท รูปร่างคล้ายปากนกแก้ว ขนาดปากหนาและงุ้มลักษณะแข็งแรงมั่นคง ปากบนมีร่องตั้งแต่โคนตรงรูจมูก
รูจมูก ทั้งสองข้างยาวและใหญ่โคนปากทั้งสองข้างช่วยให้หายใจคล่องเมื่อไก่เหนื่อย สันกระดูกเหนือรูต่อจากโคนปากจะมีสีขาวอมเหลือง
คิ้ว โหนกคิ้วเป็นสันโค้งปิดเป้าตา ทำให้ป้องกันลูกตาได้ดีจากการตี
คอ นับตั้งแต่ใต้คางลงมาถึงหัวไหล่ ต้องยาวและใหญ่กระดูกแต่ละข้อถี่
สร้อย สร้อยปะบ่าระย้าปะก้น สร้อยมีสีเหลืองทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยปีกหรือสร้อยหลัง
สร้อยคอ มีสีเหลืองลักษณะเส้นเล็กและหนาแน่นยาวปะบ่า
สร้อยหลัง มีสีเหลืองแหลมปลาย ยาวระย้าปะถึงก้นหลัง หลังแผ่ขนาดใหญ่
ปีก เมื่อกลางออกจะเห็นกล้ามเนื้อปีกใหญ่ หนาตลอดทั้งปีก เอ็นยึดกระดูกแข็งแรง ขนปีกขึ้นหนาแน่นชิด มีความยาวเท่ากันขนปีกยาวถึงกระปุกน้ำมัน
กระปุกก้น อยู่เหนือโคนหาง มีขนาดใหญ่อยู่ชิดกับกระดูกก้นกบ
ต่อมน้ำมัน อยู่เหนือกระปุกก้นเหนือโคนหาง มีขนาดใหญ่และสองต่อมอยู่ติดกัน
ตะเกียบตูด เป็นกระดูกสองอันออกจากกระดูกซี่โครงสุดท้ายยาวถึงก้นเป็นกระดูกหนาแข็งแรงลักษณะโค้งเข้าหากันและอยู่ชิดกันทั้งสองข้าง เชื่อกันว่าจะเป็นที่ตีเร็วและแรงดี
หาง จะมีสีขาวเป็นส่วนใหญ่ กะลวยหางเป็นสีขาว หางทั้งหมดดูเป็นพวงใหญ่ ยาวโค้งไปทางด้านหลัง ปลายหางห้อยตกลงเล็กน้อยดูแล้วสวยงาม แสดงว่าเป็นไก่ที่มีกำลังดี
ปั้นขา กล้ามเนื้อโคนขามีขนาดใหญ่ แสดงว่ามีกำลังดี
อก อกกว้างใหญ่ กล้ามเนื้อเต็ม กระดูกหน้าอกแข็งแรงโค้งเป็นท้องเรือยาว อกกว้าง เวลายืนโคนขาจะห่างจากกัน
กระดูกไหปลาร้า อยู่ระหว่างหัวปีกมายังหน้าอกเป็นกระดูกใหญ่และยาวแข็งแรง แสดงว่าเป็นไก่ที่ตีทน พลังสูง
แข้ง สีของแข้ง เกล็ดนิ้วเท้า เล็บและเดือยมีสีเหลืองอมขาว แข้งมีขนาดเล็ก กลม มีเกล็ดแข้ง 2 แถว
นิ้ว มีลักษณะยาวปล่อยนิ้วเรียว นิ้วกลางยาวเรียว มีเกล็ดตั้งแต่ 20 เกล็ดขึ้นไป เหนือฝ่านิ้วเท้ามีปุ่มตรงข้อเป็นลักษณะคล้ายเนื้อด้านนิ้วละ 3 ข้อ ทำให้ยึดจับดินได้ดียืนมั่นคง
อุ้งตีน หนังอุ้งตีนบางเวลายืนอุ้งตีนต้องไม่ติดพื้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาอุ้งตีนบวมได้
เล็บ มีสีเหมือนแข้ง คือมีสีเหลืองอมขาว โคนเล็บใหญ่หนาแข็งแรง ปลายแหลม
นิ้วก้อย ปลายนิ้วจะแผ่ใหญ่ เกล็ดมีรอยแตกตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไป แสดงว่าเวลาตีแล้วแทง
เสียงขัน ขันเสียงใหญ่ ยาว แสดงถึงความมีพลังหรือเป็นไก่ที่แข็งแรงสมบูรณ์
ท่ายืน ยืนยืดอกตรงยืนขาตรงชิดข้อขาไม่งอหัวปีกยกการยืนต้องมีลักษณะที่เรียกว่ายืนผงาดดังราชสีห์ซึ้งแสดงว่าเป็นไก่ที่ไม่ยอมก้มหัวให้คู่ต่อสู้ข้อขาที่ยืดตรงแสดงว่าเป็นไก่เตะแม่น
เดือย มีสีขาวอมเหลือง เป็นกระดูกที่ออกมาจากแข้งด้านใน โคนมีขนาดใหญ่ เรียวแหลม คมที่ปลายเดือยงอนช้อนเล็กน้อย และโคนเดือยต่ำชิดนิ้วก้อย (ห่างกันไม่เกิน 1 ซ.ม. ) แสดงว่าเป็นไก่แทงเก่ง
ท่าเดิน เดินมีสง่าเหมือนกับท่ายืน เวลาเดินยกเท้าขึ้นก็จะกำนิ้วทั้งหมด การเดินมีการระแวดระวังและเฉลียวฉลาด แสดงว่าเป็นไก่ที่มีเหลี่ยมจัด สามารถเปลี่ยนแปลงชั้นเชิงในการตี ได้หลายรูปแบบ

เกล็ดไก่ตามตำราโบราณ

ที่สำคัญมีด้วยกัน 4 แบบ ที่ถือว่าเป็นพญาไก่ คือ เสือซ่อนเล็บ เหน็บชั้นใน ไชบาดาล เกล็ดผลาญศัตรู นอกจากนี้ยังมีเกล็ดอื่นๆที่มีความโดดเด่นรองลงไปมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน สายฟ้าฟาด (สังวาลเพชร ) กากบาทดาวล้อมเดือน เกล็ดดอกจันทร์ เกล็ดกำไล เกล็ดเดิมพัน เกล็ดอัน เกล็ดอุ้ง เกล็ดใต้เท้าและอื่นๆ
เกล็ดเสือซ่อนเล็บ จะเกิดขึ้นบริเวณข้อพับหรือรอยต่อระหว่างหน้าแข้งกับส่วนของนิ้วลักษณะจะมีเกล็ดแซมขึ้นมาระหว่างเกล็ดหลักที่มีอยู่ มีตั้งแต่ 2 เกล็ดขึ้นไป เกล็ดชนิดนี้ปกติ จะถูกทับหรือคลุมด้วยเกล็ดอื่น ในขณะที่ไก่ยืนอยู่จะไม่เห็นเพราะหลบซ่อนอยู่ภายใน หากคลี่ออกดูจะเห็นชัดเจน



เหน็บชั้นใน จะเกิดขึ้นที่นิ้วใดนิ้วหนึ่ง ส่วนมากจะอยู่ที่นิ้วชี้ เป็นเกล็ดขนาดเล็กที่แทรกซ้อนขึ้นมาตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไป
ไชบาดาล อยู่ที่โคนนิ้วก้อย จะมีลักษณะเกล็ดแตกมากกว่า 3 เกล็ดขึ้นไปต่อลงมาระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วชี้ไปที่อุ้งเท้า
เกล็ดผลาญศัตรู จะมีเกล็ดที่นิ้วชี้แตกตั้งแต่ 1 เกล็ดขึ้นไปที่ข้างใดข้างหนึ่ง ถือเป็นไก่ที่มีสกุลสูง ในสังเวียนจะไม่แพ้ใครง่ายๆ ในไก่ตัวใดที่สามารถพบเกล็ดทั้ง4 ชนิดในตัวเดียวกัน ถือว่าเป็นสุดยอดของพญาไก่ จัดเป็นสกุลสูงสุดไม่มีคำว่าแพ้

เกล็ดอื่นๆ ที่พบโดยทั่วไป
เกล็ดสายฟ้าฟาด ที่บริเวณด้านหลังของแข้งโดยปกติแล้วจะเป็นเกล็ดอ่อนหรือเกล็ดขนาดเล็ก แต่หากเกิดเป็นเกล็ดใหญ่และแข็งเหมือนเกล็ดด้านหลังแข้งเรียงกันเป็นแถว 1-2 แถว จะเรียกเกล็ดนี้ว่าเกล็ดสายฟ้าฟาด ไก่ที่มีเกล็ดนี้จะตีหนัก ตีตายหาได้ค่อนข้างอยาก
เกล็ดดาวล้อมเดือน หรือดอกจันทร์ ลักษณะจะมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ดอยู่ตรงหน้าเดือยหรือใต้เดือยและมีเกล็ดอื่นๆล้อมรอบอีก 4-5 เกล็ด
เกล็ดบัวตูม บัวบาน คล้ายกับดาวล้อมเดือน หากเกล็ดที่อยู่ตรงกลางมีขนาดเล็กล้อมรอบด้วยเกล็ดใหญ่ เรียกว่าเกล็ดบัวตูม แต่หากเกล็ดตรงกลางใหญ่ล้อมรอบด้วยเกล็ดเล็ก จะเรียกว่าเกล็ดบัวบาน ถือเป็นเกล็ดพิฆาตเช่นกัน
เกล็ดกากบาท ที่บริเวณหน้าเดือยจะมีเกล็ดมาเรียงกัน โดยที่รอยแตกของแต่ละเกล็ดอยู่ในแนวเดียวกันหรือต่อกันเป็นรูปกากบาทถือเป็นเกล็ดพิฆาตตีสลบตีตายหากมีทั้งสองข้างจะดี
เกล็ดกำไล คือ เกล็ดใหญ่เกล็ดเดียวที่ออกมาโดดเด่นจากเกล็ดอื่นๆมีขนาดใหญ่และโอบล้อมหน้าแข้งเหมือนกำไลใส่ขา ถือเป็นเกล็ดพิฆาต ตีเจ็บ ตีชัก หากมีทั้งสองข้างถือว่าดี
เกล็ดแตกตรงเดือย ที่หน้าเดือยจะมีรอยแตกของเกล็ดเป็นแนวซึ่งเมื่อลากเข้าหาเดือยแล้วจะเป็นเส้นตรงแนวเดียวกับเดือย ไก่ที่มีเกล็ดแบบนี้จะถือว่าเป็นไก่แทงแม่น แทงจัดใช้เดือย
เกล็ดข้าวตอกแตก เกิดจากเกล็ด 2-3 แถวเรียงกันมาถึงหน้าเดือย แล้วแตกกระจายเป็นหลายแถว เป็นไก่ที่เดินตี ตีชัก
เกล็ดอัน จะมี 2 แบบ คือ เกล็ดเม็ดข้าวโพดและเม็ดข้าวสารอยู่บริเวณด้านข้างของแข้งเรียงขึ้นจากเดือยเป็นแถวหากมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆจากล่างขึ้นบน เชื่อกันว่ามีมากอันไม่ดี หากด้านล่างมีขนาดใหญ่ชัดเจน 3-4 เกล็ด เชื่อว่าจะหักคู่ต่อสู้ได้ในเวลาไม่กี่อัน โบราณเชื่อว่าเม็ดข้าวสารจะดีกว่าเม็ดข้าวโพด
เกล็ดเดิมพัน เป็นเกล็ดที่บอกได้ว่าไก่ตัวนั้นๆเข้าเงินเดิมพันได้ดีหรือไม่ดี เพราะถือว่าเป็นเคล็ดหักล้างกัน เช่น หากเกล็ดเดิมพันไม่ดีแต่ตีเดิมพันสูงจะแพ้ได้ง่าย แต่หากเล่นเดิมพัน พอตัวไม่มาก อาจจะเป็นฝ่ายชนะ เกล็ดนี้จะดูได้จากแถวของเกล็ดที่เรียงขึ้นมาจากนิ้วก้อยผ่านเดือยขึ้นเป็นแนวยาวยิ่งมากจะยิ่งดีสามารถตีเดิมพันได้สูง แต่หากมีน้อยแสดงว่า เข้าเดิมพันไม่ดี บางรายเชื่อว่าสามารถตีครั้งไหนจะชนะ หรือแพ้ โดยดูจากการเรียงของเกล็ด เช่น หากมีเกล็ดขัดอยู่ในแถวที่ 4 แสดงว่าครั้งที่ 1-3 จะดี แต่ ครั้งที่ 4 จะแพ้ให้ แก้เคล็ดโดยการตีเดิมพันต่ำๆเพียง 1-2 อัน แล้วยอมแพ้เพื่อไม่ให้ไก่ช้ำ ต่อจากนั้นให้นับหนึ่งเริ่มต้นใหม่จากด้านล่างเป็นรอบต่อไป
ลักษณะของเกล็ดที่หน้าแข้งจะมีอยู่หลายแบบด้วยกัน คือ เกล็ดกำไลตลอด หรือเกล็ดพันลำ จะมีเกล็ดแถวเดียวคาดตลอดทั้งแข้งหาได้ยากมาก เกล็ด 2 แถว เกล็ด 3 แถว เกล็ดปัดตลอด (เรียงกันเป็นระเบียบสองแถว )เกล็ดตะเข้ขบฟัน (ปลายเกล็ดทั้งสองแถวสลับกัน) เกล็ดพญาครุฑ ( 3 แถวเรียงกันเป็นระเบียบและมีเหน็บแทรกอยู่ตลอด )

ตำนานและประวัติไก่ชนกับพระนเรศวร



การตีไก่ เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในพม่า โดยเฉพาะในราชสำนักถือกันว่า การตีไก่เป็นกีฬาชาววังวันหนึ่งได้มีการตีไก่กันขึ้นระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับไก่มังชัยสิงห์ ราชนัดดา(ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชาในสมัยพระเจ้านันทบุเรง ราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง กำลังกร่ำศึก) มังชัยสิงห์จึงขัดเคืองตรัสประชดประชันหยามหยันออกมา อย่างผู้ถือดีว่ามีอำนาจเหนือกว่า "ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ" สมเด็จพระนเรศวรสวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนอย่าง วันนี้เลย ตีพนันบ้านเมืองกันก็ยังได้มังชัยสิงห์คัดเคืองมากหากแต่ตระหนักดีว่าสมเด็จพระนเรศวร เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนองจะพาลวิวาทก็ยำเกรงฝีมือพระนเรศวร ขณะที่ไก่ของสมเด็จพระนเรศวรกับไก่ของพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี กำลังชนกันอย่างทรหด ต่างตัวต่างเข้าจิก ตีฟาดแข้ง แทงเดือยอย่างไม่ลดละ อย่างคาดไม่ถึง


ขณะที่ไก่ฟาดแข้งกันอย่างอุตลุดพัลวันเมื่อทั้งสองไก่พัวพันกันอยู่พักหนึ่ง ไก่ของพระมหาอุปราชก็มีอันล้มกลิ้งไปต่อหน้าต่อตา ไก่ของพระนเรศวรกระพือปีกอย่าง ทรนงและขันเสียงใส พระมหาอุปราชถึงกับสะอึก สะกดพระทัยไว้ไม่ได้จากตำราเชื่อว่าไก่ที่พระนเรศวรทรงนำไปชนกับพม่านั้น นำไปจากบ้านกร่าง เดิมเรียกว่าบ้านหัวเท ซึ้งอยู่ห่างจากเมืองพิษณุโลก ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตร ขณะที่ชนไก่ พ.ศ. 2121 พระชันษา 23 ปี

ลักษณะทั่วไปของไก่ชนพระนเรศวร
เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ พันธุ์เหลืองหางขาว ตามตำรากล่าวว่า ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง ในทุกพื้นที่ที่มีการเล่นไก่ชน ไก่เหลืองหางขาวมักจะเป็นตัวเอกทุกๆ สังเวียนอยู่เสมอ หรือแทบจะเรียกได้ว่าไก่พันธุ์นี้อยู่ในความครอบครองของนักเลงไก่อยู่เสมอ ไก่เหลืองหางขาวจัดว่าเป็นไก่ที่มีสกุลและมีลักษณะเด่นมาก จากประวัติฝีมือความสามารถ ทำให้มีการพูดเสมอในวงพนันว่า ไก่เหลืองหางขาวกินเหล้าเชื่อ หมายความว่าเมื่อนำไก่สีนี้ไปตี สามารถที่จะเชื่อมั่นได้ว่า จะต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอนสามารถสั่งเหล้าเงินเชื่อมากินก่อนได้เลย

ไก่เหลืองหางขาวที่มีลักษณะตรงตามตำรา
หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง สร้อยระย้า หน้านกยูง อกชัน หวั้นชิด หงอนบิด ปากร่อง พัดเจ็ด ปีกสิบเอ็ด เกล็ดยี่สิบสอง ถือเป็นไก่ชั้นเยี่ยม อกชัน คือ ยืนยืดอกหรือเชิดอก อันจะทำให้ด้านท้ายของตัวลาดลงต่ำ แสดงถึงความเป็นไก่อันธพาล
หวั้นชิด คือ ข่วงหางอยู่ชิดหรือติดกับบั้นท้ายตรงบริเวณเชิงกราน ทำให้ช่องว่างระหว่างบั้นท้ายกับเชิงกรานแคบแสดงถึงความอึดอดทน
หงอนบิด คือ หงอนไม่ตรงบิดเอียงไปด้านข้างเล็กน้อยแต่ไม่ไช่พับเอียงมากเกินไปเพราะจะเป็นลักษณะที่ไม่ดี แต่จะเชื่อกันว่าหงอนที่เอียงบิดไปทางขวาเป็นไก่ที่มีฝีมือตามตำราแต่หากเอียงทางซ้ายจะไม่นิยม
ปากร่อง คือ ที่บริเวณจงอยปาก จะมีร่องเป็นร่องลึกเข้าไปทั้งสองข้างออกจากรูจมูก อันแสดงถึงความเข้มแข็งไม่หลุดหักง่าย
พัดเจ็ด คือ ที่บริเวณจะพบขนที่เรียกว่าขนพัดข้างละ 7 เส้น
ปีกสิบเอ็ด คือ ขนปีกท่อนนอกมีข้างละ 11 เส้น ช่วยในการบินได้ดี
เกล็ดยี่สิบสอง คือ เกล็ดที่นิ้วกลางนับรวมกันได้ 22 เกล็ด จัดเป็นไก่มีสกุลตีเจ็บตีหนัก รุนแรง


เกล็ดแข้ง ถือเป็นศาสตร์ลึกลับชั้นยอด เป็นเคล็ดวิชาที่เป็นทีเด็ดของนักเลงไก่ระดับเซียน ใครก็ตามที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ จะได้ไก่ที่ชนะตลอดกาล เกล็ดไก่แต่ละตัวจะไม่เหมือนกันแม้จะเป็นครอกเดียวกัน เกล็ดไก่เปรียบเหมือนกับลายมือของคน ที่สามารถบอกอนาคตและฝีมือของไก่ได้ เช่น คนลายมือขาดจะต่อยตีหนัก ไก่มีเกล็ดพิฆาตจะตีชักตีตาย คนที่มองเกล็ดไก่ออกจะต้องมีความชำนาญแบบหมอดูลายมือ


วิธีการผสมพันธุ์ไก่ชน

ไก่ที่จะใช้ผสมพันธุ์ ต้องคัดเลือกจากไก่ตัวผู้ และตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคขี้ขาว เป็นหน่อ มะเร็ง คอคอก หวัด เพราะถ้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นโรคแล้วอาจจะมาติดถึงลูกได้ เพื่อให้ได้ผลในการผสมพันธุ์ ควรใช้ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 5 ตัวและไม่ควรขังให้อยู่ในเล้าที่จำกัด ควรปล่อยให้อยู่ในที่กว้าง ๆ อาหารต้องสมบูรณ์อาหารที่ใช้คือ ข้าวเปลือก ปลาสด (ควรต้มเสียก่อน) หญ้าอ่อน ถ้าไม่มีหญ้าควรให้ผักสดกิน ถ้าทำเช่นนี้ได้จะได้ลูกไก่ที่สมบูรณ์ (ข้อสำคัญไก่ที่จะทำพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ควรนำไปให้ปศุสัตว์ตรวจโรคเสียก่อน)




การเตรียมรังสำหรับฟักไข่

ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น กีฬาชนไก่เป็นกีฬาโบราณ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์ หรือทำรังให้ไก่ฟักย่อมมีพิธีรีตองมากเป็นธรรมดา ถ้าทำลำบากมักจะให้ประโยชน์คุ้มค่าเสมอ ท่านต้องหาของที่โบราณเขาถือมาใส่รังไก่ให้ครบ ท่านก็จะได้ไก่ที่ฟักออกมาเก่ง ๆ ทุกตัว

ของที่ใช้ประกอบการฟักไข่มีดังนี้

1. กระบุง การใช้กระบุงทำเป็นที่รองสำหรับฟักไข่ ก็เพราะว่ากระบุงเป็นภาชนะสำหรับ
ใส่ของซื้อ ของขายได้ทีละมาก ๆ จึงเป็นมงคลด้วย
2. มูลฝอยสำหรับรองรังไข่ ควรใช้ของดังนี้
ก. ไม้ฟ้าผ่า (ทำให้ไก่ตีแรง จนให้คู่ต่อสู้ชักดิ้น)
ข. คราบงูเห่า (ทำให้แข้งมีพิษ)
ค. ทองคำ (ทำให้สีสวย)
ง. ไม้คานหักคาบ่า (ทำให้มีลำหักลำโค่น)
จ. หญ้าแพรก (เวลาชนทำให้ฟื้นง่ายเหมือนหญ้าแพรก)
3. การคัดไข่ การเก็บไข่ไว้ฟักควรเลือกไข่ที่สมบูรณ์ไม่บูดเบี้ยว
และน้ำหนักมาก ไม่น้อย กว่า 45 กรัม หรือใกล้เคียง ถ้าท่านทำได้ตามนี้ท่านจะได้ไก่เก่งประมาณ
80% การทำรังให้ไก่ฟักไม่ควรให้แดดส่อง หรือฝนสาดได้เพราะจะทำให้ไข่เสีย การฟักแต่ละครั้ง
ไม่ควรฟักเกิน 10 หรือ 11 ใบ ถ้าฟักเกินแล้วจะทำให้ไข่เสียมาก ฟักประมาณ

วิธีเลือกไข่ขึ้นฟัก

การเลือกไข่ขึ้นฟัก ใช้สมุดปกอ่อนม้วนเป็นรูปกระบอกแล้ว นำไข่ที่ฟักไปประมาณ 15 วัน ใส่ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ส่องให้ตรงกับพระอาทิตย์ ถ้าไข่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นสีดำสนิท แต่ถ้าไข่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นในไข่เป็นแสงสว่าง ไข่ไม่มีเชื้อควรคัดออกได้เลย ถ้าเก็บไว้มาก นอกจากจะทำให้แน่นกันแล้ว จะทำให้ไข่ดีเสียไปมากอีกด้วย

วิธีเลี้ยงลูกไก่

ตามปกติลูกไก่อ่อนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากมากเพราะจะมีโรคหลายชนิดแล้วยังจะมีสัตว์อื่นรบกวนอีกมากเช่น เหยี่ยว สุนัข งู แมว กา และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นท่านต้องระวังให้มาก หลังจากลูกไก่ออกแล้วให้นำลูกไก่มาขังไว้ในที่ ๆ สะอาด อย่าให้ลมโกรกมาก เวลานอนควรให้นอนในมุ้งอย่าให้ยุงกัดได้ เพราะจะทำให้เกิดโรคฝีดาษได้ อาหารสำหรับลูกไก่ ในระยะ 10 วันแรก ควรใช้ปลายข้าวกล้องอย่างละเอียด ผสมอาหารไก่อ่อนซึ่งมีขายตามร้านอาหารไก่ คลุกกับน้ำพอเปียกให้กิน ส่วนน้ำใช้ไวตามินผสมให้กินหลังจาก 10 วันไปแล้วใช้ข้าวกล้องเม็ดโตผสมอาหารไก่และน้ำเช่นเดิมให้กินพออิ่มแล้ว ใช้ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดต้มให้สุกปั้นเป็นลูกกลอนเล็ก ๆ ให้กิน หรือผสมกับอาหารไก่ให้กินหลังอาหารแล้ว พออายุประมาณ 1 เดือน เริ่มให้กินข้าวเปลือกเม็ดเล็กได้แล้ว หลังจากกินข้าวเปลือกอิ่มแล้ว ควรให้กินปลาตัวละประมาณเท่าหัวแม่มือทุกวัน ลูกไก่ที่ท่านเลี้ยงจะโตเร็วกว่าปกติ โรคสำหรับไก่ชนเราส่วนมากจะมีโรคร้ายแรงอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคบิด ไก่ที่เป็นโรคชนิดนี้ส่วนมากกระเพาะอาหารไม่ย่อย หงอยซึมอยู่ตลอดเวลา ควรใช้ยาซัลฟาควินน็อกซาลิน ผสมน้ำตามส่วนให้กิน หรือใช้หยอดก็ได้ติดต่อกัน 3 วัน แล้วเว้น 1 วันจนกว่าจะหาย การเลี้ยงลูกไก่ หลังจากออกจากไข่แล้วประมาณ 10 วัน ควรให้อยู่กับแม่ก่อน สถานที่เลี้ยงไม่ควรให้แฉะ ควรเป็นที่ร่มมีแดดรำไรและที่สำคัญที่สุดต้องมีหญ้า เพราะหญ้าจะเพิ่มวิตามินซีให้กับไก่


วิธีการเลี้ยงไก่สำหรับชน

การเลี้ยงไก่สำหรับชนนั้น มีหลายอย่างหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ใดจะสั่งสอนมา
แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด
ระยะการปล้ำและทำตัวไก่หนุ่ม
ไก่หนุ่มที่จะเริ่มเลี้ยงครั้งแรก ต้องลงขมิ้นให้ทั่วทั้งตัวเสียก่อน เพื่อสะดวกในการอาบน้ำ
และป้องกันไรได้ดีอีกด้วย
ก. เริ่มอาบน้ำเวลาเช้าทุกวัน ควรใช้ผ้าประคบหน้าทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ
ลงกระเบื้อง เนื้อตัวบาง ๆ แล้วลงขมิ้นตามเนื้อบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดด พอรู้ว่าหอบก็นำไก่เข้าร่ม
อย่าให้กินน้ำจนกว่าจะหายหอบจึงจะให้กินน้ำได้ไก่ผอมไม่ควรผึ่งแดดให้มากเพราะจะทำให้ผอมมากไปอีก ถ้าอ้วนเกินไปต้องผึ่งแดดให้มากสักหน่อย เพราะจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรคุมน้ำหนักทุกครั้งที่มีการซ้อม และการเลี้ยงทุกวันตอนเช้า
ข. อาบน้ำประมาณ 7 วัน แล้วจึงเริ่มซ้อมครั้งแรกสัก 2 ยก ๆ ละไม่เกิน 12 นาที ซ้อมสัก 3 ครั้ง ครั้งที่ 2
ครั้งที่ 3 ซ้อมยกละ 15 นาที รวมแล้วให้ได้ 6 ยก ระยะการปล้ำแต่ละครั้งควรจะมีเวลาห่างกันประมาณ 10 -15 วันพอครบกำหนดแล้วต้องถ่ายยาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว


วิธีล่อ
เวลาประมาณบ่าย 2 โมงเย็น เอาน้ำเช็ดตัวไก่ที่เลี้ยงเล็กน้อย แล้วเอาไก่ที่เป็นไก่ล่อ
จะเป็นการล่อทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่สะดวก แล้วล่อไก่ให้ย้าย คือเอาไก่ล่อ ๆ วนไปข้างซ้าย 10 รอบ เย้ายวนไปทางขวา 10 รอบ
ย้ายจนกว่าไก่ตัวถูกล่อจะไม่ล้มจึงจะใช้ได้ แล้วล่อให้ไก่บินบ้าง ล่อประมาณ 20 - 25 นาทีก็พอ
พอเสร็จจากการล่อเอาขนไก่ปั้นคอ พอหายเหนื่อยแล้วอาบน้ำได้ เสร็จแล้วผึ่งแดดให้ขนแห้งแล้วกินอาหารได้
การใช้ขมิ้น
ทุกครั้งเวลาอาบน้ำไก่ในตอนเช้า ต้องใช้กระเบื้องอุ่น ๆ ประคบหน้าพอสมควร
ถ้ามากนักจะทำให้หน้าเปื่อย แล้วทาขมิ้นบาง ๆ ทุกครั้ง บางคนใช้ทาเฉพาะหน้าอก ขา ใต้ปีก ตามเนื้อเท่านั้น (ใช้ได้เหมือนกัน)
การปล่อยไก่
ไก่ที่เลี้ยงไว้ชนพอเวลาแดดอ่อนๆควรได้ปล่อยไก่ให้เดินตามสนามหญ้าแพรกนอกจากจะให้ไก่ได้เดินขยายตัวแล้ว ไก่ยังมีโอกาสได้กินหญ้าไปในตัวด้วย
วิธีแก้ไขให้น้ำหนักตัวลด
เวลาไก่ชนที่เลี้ยงอ้วนเกินไปน้ำหนักตัวจะมากบินไม่ขึ้น ควรผึ่งแดดให้หอบนาน ๆ หากไก่ผอมมากไปไม่ควรให้ถูกแดดมากเกินไป
เวลานอนควรให้นอนบนกาบกล้วย หรือเอาน้ำเย็นเช็ดตัวบาง ๆ ก่อนนอน การนอนควรนอนในมุ้งทุกคืนเพื่อมิให้ยุงไปรบกวน ไก่จะได้นอนหลับสบาย
การเลี้ยงไก่ถ่าย
การเลี้ยงไก่ถ่าย หรือไก่ที่เปลี่ยนขนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่หนุ่ม ผิดกันตรงที่ไก่ถ่ายต้องปล้ำให้ได้ที่ คือปล้ำครั้งละ
2 ยก ยกละ 15 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวม 10 ยก หรือปล้ำจนกว่าจะบินไม่ล้ม แล้วผึ่งแดดให้นานกว่าไก่หนุ่มหน่อย นอกนั้นเหมือนกันหมด
ยาถ่ายไก่
ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
3. ไพลประมาณ 5 แว่น
4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน) ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง
ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน
น้ำสำหรับอาบไก่
ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
1. ไพลประมาณ 5 แว่น
2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
4. ใบมะกรูด 5 ใบ
5. ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง


ยาบำรุงกำลังไก่
ยาบำรุงที่นิยมกันมากมีหลายขนาน แต่จะยกมาขนานเดียว คือ
1. ปลาช่อนใหญ่ย่างไฟ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 ตัว
2. กระชายหัวแก่ ๆ ประมาณ 2 ขีด (แห้ง)
3. กระเทียมแห้ง 1 ขีด
4. พริกไทย 20 เม็ด
5. บอระเพ็ดแห้ง 1 ขีด
6. นกกระจอก 7 ตัว
7. หัวแห้วหมู 1 ขีด
8. ยาดำพอประมาณ
นกกระจอกนำไปย่างไฟแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำให้ป่น ปลาช่อนก็ตำให้ป่น แล้วนำทั้ง 8 อย่างมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทราให้กินวันละ1 เม็ดก่อนนอนทุกวันจนกว่าไก่จะชน
ยาบางตำราไม่เหมือนกันแต่ได้ผลดีทั้งนั้น แต่ไปแพ้กันตรงที่ไก่เก่งไม่เก่งเท่านั้น
ไก่ที่นำไปชนทุกครั้งถ้าไม่ได้ชน กลับมาจะต้องฉะหน้าถอนแข้งทุกครั้ง ๆ ละ 5 นาที 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปชนต่ออีก



วิธีให้น้ำไก่ขณะกำลังชน
การใช้น้ำไก่เป็นสิ่งจำเป็นในการชนไก่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าท่านให้น้ำไก่ไม่เป็น
เอาไก่ไปชนโอกาสแพ้มีมาก มือน้ำเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตาไก่ของท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องเป็นคนให้น้ำไก่เก่งๆ จึงจะสู้เขาได้
วิธีให้น้ำไก่ก่อนชน
ท่านต้องใช้ผ้ามุ้งบาง ๆ ชุบน้ำเช็ดตัวให้ทั่วตัวทุกเส้นขน แต่อย่างให้ปีกเปียก (เพราะปีกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้)
แล้วเช็ดให้แห้ง ให้กินข้าวสุก จนอิ่มแล้วปล่อยให้เดินเพื่อจะได้ขยายตัว และแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำไก่เข้าชน
พอหมดยกที่ 1
เอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าอก และใต้ปีกเสียก่อนจึงค่อยเช็ดตามตัวให้ทั่ว แล้วตรวจบาดแผลตามหัว ตามตัวว่ามีผิดปกติหรือเปล่า
ตรวจดูตา ตรวจดูปากให้เรียบร้อย ถ้าปากฮ้อ ก็เตรียมผูก ถ้าตาหรี่ก็ควรเสนียดตา หรือถ่างตา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กินข้าวสุกที่บดไว้
ประมาณ 3 - 4 ก้อน แตงกวาแช่น้ำมะพร้าวอ่อน พอให้อิ่มแล้วเอาไก่นอน ๆ ประมาณ 5 นาที
หลังจากนอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอากระเบื้องอุ่นมาเช็ดตามตัว ตามหน้าแข้ง
ขาให้ทั่วบริเวณที่ถูกตี แล้วปล่อยให้เดิน และให้ไก่ถ่ายออกมาเพื่อจะได้ให้ตัวเบา (ยกต่อไปก็ทำเหมือนยกที่ 1 จนกว่าจะแพ้ ชนะกัน)

วิธีรักษาพยาบาลหลังจากไก่ชนแล้ว

ตามปกติไก่ที่ชนมาแล้วจะมีบาดแผลมากน้อยแล้วแต่กำหนดเวลาการต่อสู้ บางตัวก็ชนะเร็ว
บางตัวก็ชนะช้าบาดแผลก็มีมาก เวลาชนเสร็จแล้วควรใช้เพนนิซิลิน อย่างเป็นหลอดทาตามหน้าให้ทั่ว
เพื่อไม่ให้หน้าตึง อย่าใช้ขมิ้นเป็นอันขาด ถ้าบาดแผลมากจริงควรใช้ยาพวกสเตปโตมัยซิน
หรือฉีดยาเทอรามัยซิน หรือจะให้กินยาเต็ดตร้าไซคลินก็ได้ วันละ 1 เม็ด ตอนเย็น
ประการสำคัญ อย่าให้ทับตัวเมียเป็นอันขาด หลังจาก 1 เดือนไปแล้วให้ทับได้



วิธีดูลักษณะไก่ชน

ตามปกติลักษณะ และบุคลิกเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ไก่ชนตัวใดมีบุคลิกลักษณะดี
ไก่ตัวนั้นก็มักจะเก่งเป็นส่วนมาก การดูบุคลิกลักษณะไก่ชนที่เก่งมีส่วนประกอบหลายอย่าง
1. ใบหน้าเล็ก คางรัด
2. หงอน (หงอนบางกลางหงอนสูง) (หงอนหิน)
3. ปากเป็นร่องน้ำสองข้างลึก (ปากสีเดียวกับขา)
4. นัยตาดำเล็ก ตาขาวมีสีขาว (ตาปลาหมอตาย) (หรือตาสีเดียวกับสร้อยคอ)
5. สีของขน
6. สร้อยคอต้องยาวติดต่อสร้อยกลางหลัง
7. ปากใหญ่ยาว



8. คอใหญ่และกระดูกปล้องคอถี่ ๆ
9. หางยาวแข็ง
10. กระดูกหน้าอกใหญ่ ยาว
11. แข้งเล็ก แห้ง ร่องเกล็ดแข้งลึก และกลม เกล็ดแข้งใส เหมือนเล็บมือ
12. นิ้วเล็กยาว เล็บยาว
13. เม็ดข้าวสารนูนเวลาใช้มือลูบจะคายมือ
14. โคนหางใหญ่
15. อุ้งเท้าบาง แคร่หลังใหญ่
16. เส้นขาใหญ่



การดูเกล็ดแข้ง

การดูเกล็ดแข้งก็เหมือนการดูลายมือคน เกล็ดแข้งตามตัวอย่างนี้
มิใช่ว่าไก่ที่มีแข้งแบบนี้แล้วจะไม่แพ้ใคร ลักษณะของการแพ้นั้นมีอยู่หลายวิธี คือ
1. ไก่ไม่สมบูรณ์หมายถึง เจ็บป่วยโดยที่เราไม่รู้ เรานำไปชนก็มักจะแพ้
2. เปรียบเสียเปรียบคู่ต่อสู้ คือเล็กกว่าบ้าง ต่ำกว่าบ้างเป็นเหตุทำให้แพ้ได้
3. ผิดเชิง ไก่บางตัวชอบตีไก่ตั้ง เวลาชนไปเจอไก่ลงตีไม่ได้ก็แพ้ได้เหมือนกัน


เพราะฉะนั้นการดูเกล็ดแข้งจึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้ไว้บ้าง แข้งตามตัวอย่างนี้เป็นส่วน
ประกอบเวลาท่านจะไปหาไก่ถ้ามีเกล็ดแบบนี้แล้ว ท่านทดลองปล้ำดูพอใจแล้วค่อยเอา
ถ้าไก่สมบูรณ์ ชนไม่เสียเปรียบ รับรองว่าชนะมากกว่าแพ้ แต่ว่ารู้สึกว่าจะหายากสักหน่อย


การหาพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ชน

โดยปกตินักเลงเล่นไก่ชนมักจะหวงพันธุ์ของแม่ไก่มากกว่าของพ่อไก่ เพราะถือกันว่าสายเลือดของแม่จะให้ได้ลูกไก่พันธุ์ที่ดี วิธีที่จะหาพ่อพันธุ์ให้ได้ไก่เก่ง ท่านต้องเป็นซอกแซกไปเที่ยวตามบ่อนไก่ชนบ่อย ๆ และคอยดูว่าไก่ตัวไหนที่เก่ง คือตีแม่น ชั้นเชิงดี หัวใจทรหด อดทน ไม่หนีง่าย ถ้าไก่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เวลาชนเสร็จแล้วชนะ หรือแพ้ จะตาบอดหรือไม่ก็ตาม เอามาทำพ่อพันธุ์ได้ (ตามตำราบอกว่าเอาไก่ที่แพ้มาทำพ่อไก่มันให้ลูกเด็ดนักแล) ท่านซื้อตอนนั้นราคาอาจจะไม่สูงนัก เพราะนักเลงไก่เขาไม่ค่อยเก็บเอาไว้ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ดังกล่าว ท่านต้องไปหาซื้อเอาตามบ้านนักเล่นไก่ชน ส่วนแม่พันธุ์ก็ควรให้มีคุณสมบัติเหมือนตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์ ถ้าทำโดยวิธีการสุกเอาเผากินแล้วจะทำให้ท่านได้ไก่ดียาก เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวไหนดีหรือไม่ดีต้องเสียเวลาอย่างน้อยประมาณ 9 - 10 เดือน


วิธีคัดเลือกแม่พันธุ์ และแม่พันธุ์ไก่
โดยปกตินักนิยมเล่นไก่ชนมักจะเลือกสีเป็นอันดับแรก ดังนั้นไก่ที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ควรเลือกจากไก่ที่มีสีดังต่อไปนี้
1. สีเหลืองหางขาว
2. สีประดู่หางดำ เดือยดำ เล็บดำ ปากดำ (หรือปากคาบแก้ว)
3. สีเขียวเลา (มีสีเขียวสลับกับสีขาวทั้งตัว หางขาวด้วย)
4. สีเขียวกา หรือเขียวแมลงภู่ (หางดำ)
เพราะโบราณกล่าวไว้ว่าไก่ 4 สีนี้เป็นสีที่รักเดิมพันมาก ชนได้ราคาแพง ไม่ค่อยแพ้ ส่วนไก่ สีอื่น ๆ นักเลงเล่นไม่นิยมเล่นกัน เพราะเข้าใจว่าเป็นไก่พันธุ์ผสมมาจากสายเลือดอื่น ที่ไม่ใช่ไก่ชนแท้ อาจจะผสมกับไก่โรดส์ หรือไก่เร็คฮอนก็เป็นได้ น้ำใจไก่พวกนี้จึงไม่ทรหดมาก สำหรับแม่พันธุ์นั้นเวลาใช้ผสมพันธุ์ ควรหาให้เป็นสีเดียวกับพ่อพันธุ์ เวลาให้ลูกจะได้สีเหมือนกัน
คุณสมบัติ และลักษณะของพ่อพันธุ์ไก่

นอกจากสีของไก่แล้ว พ่อไก่ควรมีคุณสมบัติ และลักษณะดังต่อไปนี้
1. ควรเป็นไก่ที่มีประวัติที่ดี เคยชนชนะจากบ่อนมาแล้ว
2. ปากต้องใหญ่ มีร่องน้ำ 2 ข้างปากลึก (ปากสีเดียวกับขา)
3. นัยตาควรเป็นสีขาว (หรือที่เรียกว่าตาปลาหมอตาย หรือตาสีขน สีเดียวกับสร้อยคอ)
4. คอใหญ่ และปล้องคอถี่ ๆ
5. หัวปีกต้องใหญ่ และขนปีกยาว
6. นิ้วเล็กเรียวยาว
7. เม็ดข้าวสารท้องแข้งใหญ่ และแข้งกลม
8. สร้อยคอยาวติดต่อกันถึงสร้อยหลัง
9. หางยาวแข็งและเส้นเล็ก
10. กระดูกหน้าอกใหญ่และยาว
11. เดือยใหญ่ และชิดนิ้วก้อยมากที่สุด
12. อุ้งเท้าบางและเล็บยาว
13. เกล็ดแข้งใสเหมือนเล็บมือ และมีร่องลึก

ชั้นเชิงของไก่ชน

ปกติไก่ชนจะมีชั้นเชิงการต่อสู้อยู่ 2 อย่าง คือไก่ตั้ง และไก่ลง ส่วนไก่กอดนั้นเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ไก่ตั้ง แม่พันธุ์ไก่ลง หรือพ่อพันธุ์ไก่ลง กับแม่พันธุ์ไก่ตั้ง ลูกออกมาจึงกลายมาเป็นไก่กอด ส่วนนักเลงเล่นส่วนมากชอบไก่ตั้ง เพราะการต่อสู้ของไก่ตั้งนั้นเหนื่อยช้าไม่ต้องวิ่งมาก เพราะยืนคอยดักตีอย่างเดียว แต่บางคนชอบไก่เชิง เพราะไก่เชิงไม่ค่อยเจ็บตัวเวลาเข้าชนจะลักตีขโมยตี ดังนั้นถ้าท่านจะผสมก็ควรเลือกชั้นเชิงไก่ให้เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าท่านชอบไก่เชิง ก็ควรหาตัวเมียที่มีชั้นเชิงเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านชอบไก่ตั้ง ก็ควรเลือกตัวเมีย ให้ตั้งเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านไม่เลือกชั้นเชิงให้เหมือนกันแล้ว ลูกออกมาจะชนเลอะเทอะเป็นไก่โง่ ควรระวังให้มาก เพราะปกติไม่ค่อยคัดเลือกไก่กัน ผสมกันเรื่อยไปจึงไม่ค่อยได้ไก่เก่ง ได้น้อยตัว